น.ส.ปนัดดา ศรีคชชา พนักงานโรงแรม เล่าถึงผลกระทบปิดเกาะภูเก็ตเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ จากประสบการณ์ตรงของคนในพื้นที่ที่มีโอกาสได้ทำงานโรงแรมในบ้านเกิด แต่ต้องหยุดงานชั่วคราว พร้อมกับเพื่อนพนักงานกว่า 100 คน หลังโรงแรมประกาศปิดกิจการตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา
โรงแรม 5 ดาว ขนาดใหญ่ 482 ห้อง ในพื้นที่หาดป่าตอง ยังได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ เนื่องจากไม่มีลูกค้าเข้าพักแม้แต่ห้องเดียว เพราะลูกค้าหลักที่เป็นชาวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ แต่โรงแรมก็ยังให้เงินช่วยเหลือพนักงานต่อเนื่อง 4 เดือน ส่วนตัวพนักงานเองก็ได้ไปยื่นประกันสังคม เพื่อขอให้ช่วยเหลือเนื่องจากได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยได้ให้เงินช่วยเหลือ 3 เดือน
น.ส.ปนัดดา เล่าว่า แม้จะมีเงินช่วยเหลือ แต่เพื่อนพนักงานหลายคนก็ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ ต้องยอมปล่อยห้องเช่า ขนของกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด
ลูกของพนักงานที่เรียนอยู่ต้องทำเรื่องย้ายโรงเรียน ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มมากขึ้น แต่อยู่ภูเก็ตต่อไป หลายคนหมดหวัง เพราะไม่รู้ว่าจะกลับมาทำงานได้อีกครั้งเมื่อไหร่
สอดคล้องกับข้อมูลของนายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ที่ระบุว่า ขณะนี้ธุรกิจท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 90 ไม่สามารถเปิดกิจการได้ คาดว่าจะมีแรงงานภาคบริการที่ต้องตกงานประมาณ 50,000-60,000 คน บางคนรับเงินจากประกันสังคม หรือบางคนยังไม่ได้รับ หากยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือในช่วง 1-2 เดือน เชื่อว่าจะเกิดคดีฟ้องร้องระหว่าง ลูกจ้างกับนายจ้างเป็นจำนวนมาก
นายก้องศักดิ์ ยังประเมินว่าหากรัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการจะส่งผลต่อการเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่ง จ.ภูเก็ต มีโรงแรมทั้งหมดกว่า 3,000 แห่ง ห้องพักกว่า 150,000 ห้อง ขณะนี้อัตราการเข้าพักไม่ถึงร้อยละ 20 การจ้างแรงงานให้กลับเข้าระบบ จึงเป็นเรื่องยาก
วิกฤตร้านขายของที่ระลึก ปรับตัวขายออนไลน์
น.ส.ปนัดดา ระบุว่า นอกจากตัวเองที่เป็นพนักงานโรงแรมจะได้รับผลกระทบแล้ว พ่อที่เป็นคนขับรถแท็กซี่คิวโรงแรม ต้องหยุดพักงาน ด้วยเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ส่วนแม่เปิดร้านขายสินค้าที่ระลึกและเสื้อผ้าไทยอย่างกางเกงช้าง หรือพวงกุญแจ ก็ต้องปิดร้านเช่นกัน
จากรายได้วันละหลายพันบาท จนเหลือ 0 บาท รายได้ทั้งครอบครัวลดลง จนต้องเอาเงินเก็บของทั้งบ้านออกมาใช้ มันแย่กันไปหมด
หลังเผชิญวิกฤตทุกด้านก็ต้องเริ่มปรับตัว น.ส.ปนัดดา เริ่มนำสินค้าของที่ระลึกมาลงขายออนไลน์ ปรับราคาลดลง ส่วนงานโรงแรมก็รับงานเป็นรายวัน ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยเดินทางมาสัมมนาและท่องเที่ยวบ้างแล้ว นอกจากนี้ โรงแรมได้มีการประชุมเพื่อหาโปรโมชั่นมารองรับลูกค้าคนไทยเพิ่มเติมด้วย
เศรษฐกิจแบบนี้ ใครๆ ก็รัดเข็ดขัด คนไทยเองก็พยายามจะเที่ยวในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทุกคนต้องเที่ยวแบบเซฟๆ ทำให้ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยมาก จ่ายเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ อย่างค่าที่พักหรืออาหารเท่านั้น ทำให้การฟื้นเศรษฐกิจตอนนี้อาจเป็นไปได้ยาก
คนพื้นที่ จ.ภูเก็ต เริ่มวิกฤต บ้านไร้คนเช่า
น.ส.ปนัดดา ยังมีธุรกิจบ้านเช่าที่ทำมาแต่ดั้งเดิม เพื่อรองรับคนทำงานในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ที่ผ่านมามีคนเช่า ก็เหลือคนเช่าเพียง 2 หลัง จากปกติ 10 หลัง เนื่องจากผู้เช่าทำงานโรงแรม ร้านอาหาร เป็น รปภ. และพนักงานเซเว่น ก็ย้ายกลับบ้านกันหมด เพราะไม่มีรายได้
ตั้งแต่เกิดมาเคยชินกับความคึกคักของ จ.ภูเก็ต มาตลอด คนต่างชาติเดินไปมาเต็มถนน แต่วันนี้เปลี่ยนไปหมด 25 ปี ไม่เคยเกิดปรากฏการณ์แบบนี้มาก่อน ร้านค้าในหาดป่าตองบางร้านปิดชั่วคราว บางร้านต้องเซ้ง ทั้งที่เมื่อก่อนขายทั้งวันทั้งคืน กลางคืนไม่มีเคอร์ฟิวก็เหมือนเคอร์ฟิว
ขณะที่นายพัทธนันท์ พิสุทธิ์วิมล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต ระบุว่า ผลกระทบในภาคอสังหาริมทรัพย์สำหรับคนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต บางส่วนมีการประกอบธุรกิจซื้อบ้านเพื่อปล่อยเช่า แต่เมื่อเกิด COVID-19 ทำให้ร้านค้า โรงแรมต่างๆ ได้รับผลกระทบ บางแห่งปิดชั่วคราว บางแห่งต้องเซ้งร้าน แรงงานในระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดก็ต้องกลับบ้านเพราะตกงาน
ธุรกิจห้องเช่าจึงถือว่าได้รับผลกระทบหนัก ผลกระทบด้านอสังหาริมทรัพย์จาก COVID-19 อาจจะไม่กระทบมากนัก แต่แรงงานในระบบได้รับผลกระทบต่อเนื่องเป็นทอดๆ
ธนาคารชะลอจ่ายโครงการ - แรงงานก่อสร้างขาดรายได้
นายพัทธนันท์ ระบุว่า ข้อมูลยอดโอน ยอดขาย รวมถึงยอดจัดสรรในภาคอสังหาริมทรัพย์ใน จ.ภูเก็ต ในไตรมาส 1 และ ไตรมาส 2 ต้องถือว่ายังไม่กระทบมาก เพราะยังมีตัวเลขใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ช่วงปลายไตรมาส 2 เข้าไตรมาส 3 และ 4 ขาดว่าจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น เนื่องจากยอดขายเริ่มลดลง ซึ่งโครงการต่างๆ เริ่มมีการเลิกจ้างหรือจ้างออกแล้วเกือบๆ 50%
ผู้ประกอบการหรือเจ้าของโครงการหลายคนหวังยอดขายในปีนี้มาก เพราะอสังหาริมทรัพย์เป็นการวางแผนระยะยาว แต่กลับต้องเผชิญ COVID-19 เมื่อยอดขายลดลง ธนาคารก็ชะลอจ่ายเงิน จนโครงการต้องชะลอการก่อสร้าง ผู้รับเหมาก็ขาดงาน แรงงานก็ต้องถูกจ้างออก
นายพัทธนันท์ ระบุว่า ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์หวังว่ารัฐบาลจะช่วยสนับสนุนธุรกิจด้านนี้ด้วย เนื่องจากช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา อสังหาริมทรัพย์ไม่ได้เข้าเกณฑ์ลดดอกเบี้ย อีกทั้งยังมีการชะลอจ่ายโครงการที่เริ่มวางแผนและก่อสร้างไปแล้ว แต่ยอดขายไม่เข้าตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนด
ทั้งนี้ เมื่อเริ่มวางแผนก่อสร้าง เจ้าของโครงการต้องวางเงิน ซื้อที่ และพัฒนาพื้นที่ก่อนจะคุยกับสถาบันการเงินเพื่อกู้เงิน แต่กลับต้องสะดุดเพราะสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ ทำให้เจ้าของโครงการจากที่ต้องจ่าย 50% สถาบันการเงินช่วย 50% กลับต้องจ่ายเต็มๆ 100% จนขาดสภาพคล่อง พร้อมเสนอให้ตั้งกองทุนที่อาจมีเงื่อนไขเหมือนเดิมก็ได้ แต่ให้มีเงินมาสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย
คาด 6 เดือน - 1 ปี อสังหาฯ เริ่มฟื้นตัว
นายพัทธนันท์ คาดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ใน จ.ภูเก็ต จะกลับมาฟื้นตัวได้ภายใน 6 เดือน – 1 ปี หลังจาก COVID-19 จบ เพราะต่างชาติก็ยังมีความต้องการซื้อในประเทศไทยอยู่มาก ส่วนในประเทศไทยคนไทยที่มีรายได้ในภาวะนี้อาจต้องนำเงินไปใช้จ่ายประจำวันก่อน จากนั้นจึงเริ่มซื้อรถหรือซื้ออย่างอื่น
บ้านหรืออสังหาริมทรัพย์กลายเป็นสิ่งสุดท้ายที่คนไทยจะตัดสินใจซื้อ ยิ่งช่วง COVID-19 มีการให้พักชำระหนี้ เมื่อหมด COVID-19 หนี้นี้จะกลับมา คนต้องเริ่มใช้จ่ายมากขึ้นด้วย
สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ใน จ.ภูเก็ต ก่อนหน้านี้ คิดเป็นสัดส่วนต่างชาติต่อคนไทย ประมาณ 20 : 80 แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เติบโตขึ้นเป็น 35 : 65 ในจำนวนนี้ต่างชาติบางส่วนไม่สามารถเข้าประเทศมาโอนหรือเลือกอสังหาริมทรัพย์ได้ แต่ยังมีกรณีการซื้อผ่านเอเจ้นต์ หรือตัวแทนขายของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะชาวจีนจะมีเอเจ้นต์แต่ละมณฑลคอยจัดการเรื่องการโอนให้ ทำให้การซื้อ-ขาย อสังหาริมทรัพย์ในส่วนต่างประเทศยังมีอยู่