วันนี้ (30 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อสังหาริมทรัพย์ใน จ.ภูเก็ต มีหลายประเภทที่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้ นอกจากกลุ่มโรงแรม ยังมีที่พักสำหรับแรงงานทั้งหอพัก อะพาร์ตเมนต์ ขณะที่หลายคนไม่มีงานทำจึงอพยพออกจากพื้นที่
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอย่างคอนโดมิเนียม ที่ชะลอโครงการเพื่อรอลูกค้า หรือรอจังหวะเพื่อกลับมาก่อสร้างต่อ แต่มีอสังหาริมทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยในช่วงสถานการณ์ COVID-19 คือกลุ่ม Second Home หรือบ้านหลังที่ 2
Mr. Nigel Grocock ชาวอังกฤษ ซึ่งพาครอบครัวมาใช้ชีวิตใน จ.ภูเก็ต ประมาณ 2-3 ปี ตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับชาวอังกฤษคนนี้ว่า เขาตัดสินใจไม่ผิดที่ปักหลักใช้ชีวิตหลังเกษียณที่เกาะภูเก็ต จากที่เคยไปมาหลายประเทศไทยดีที่สุดมีทั้งหาด ทั้งโรงพยาบาล ระบบสาธารณูปโภค และคนไทยที่มีอัธยาศัยดี
นอกจากชายอังกฤษคนนี้แล้วยังมีชาวแคนาดาอีกครอบครัวหนึ่งที่อยู่ที่เตรียมจะมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างสร้างบ้านคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 1 ปี
หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่คนทั่วโลกต้องเจอกับการล็อกดาวน์และรักษาระยะห่าง การมีสระว่ายน้ำและพื้นที่ส่วนตัวในบ้าน กลายเป็นปัจจัยใหม่ที่ทำให้ชาวต่างชาติจำนวนมากตัดสินใจเลือกซื้อบ้านประเภทนี้ ขณะที่ต้นทุนเดิมด้านความสวยงามของธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวก ก็ยิ่งทำให้ภูเก็ตเป็นหมุดหมายของชาวต่างชาติที่ต้องการพักอาศัยในระยะยาว
ไม่ต่างจาก Hachi Yin นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวต่างชาติคนนี้ที่บอกว่า คอนโดมิเนียมที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างอีก 2 โครงการ กว่า 2,000 ยูนิต ยังขายได้เกินร้อยละ 80 เขามั่นใจว่าหมด COVID-19 เมื่อไหร่ คนจะหลั่งไหลกลับมาภูเก็ตอีกครั้ง
ข้อมูลจากศูนย์ดิสเคาท์อสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่งตั้งขึ้นในเดือน ก.ย. ระบุว่า ความต้องการอสังหาริมทรัพย์สำหรับบ้านหลังที่ 2 ยังเติบโตได้ดี
ก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนร่วมกับ ททท. เสนอโครงการ Phuket Thailand Second Home และ Phuket Thailand Long Stay ให้จังหวัดและ ศบค.ชุดเล็ก พิจารณาเพื่อเป็นแนวทางฟื้นเศรษฐกิจในระยะยาว โดยประเมินว่าภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เพราะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และที่สำคัญคือชาวต่างชาติต้องการย้ายมาพำนักระยะยาว หรือมีบ้านหลังที่สองที่นี่
แต่การแข่งขันในตลาดค่อนข้างเข้มข้น บ้านใกล้เรือนเคียงของไทยอย่างมาเลเซีย มีประสบการณ์ในการทำโครงการ Malaysia My Second Home หรือ MM2H มาแล้ว 18 ปี มีชาวต่างชาติเข้าร่วมโครงการเกือบ 4 หมื่นคน สูงสุดเป็นกลุ่มชาวจีน
โครงการประเมินว่าตั้งแต่ปี 2545 - 2561 มีรายได้เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยานพาหนะ การศึกษา การแพทย์ และภาคบริการอื่นๆ กว่า 4 หมื่นล้านริงกิต หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท
แต่กลางปี 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียสั่งชะลอโครงการเพราะต้องรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 และต้องการปรับปรุงโครงการนี้ใหม่ แต่บรรดาที่ปรึกษาและภาคธุรกิจออกมาตั้งข้อคำถามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยหนึ่งในเหตุผลที่หยิบยกขึ้นมาคือ มาเลเซียอาจเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับไทยที่มี โครงการบ้านหลังที่ 2 เช่นกัน