วันนี้ (2 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัย พัฒนา และวิชาการ เกี่ยวกับป่าชายเลน
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ กล่าวว่า ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีพันธุ์พืชมากกว่า 80 ชนิด ในบริเวณรอยต่อระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม และเป็นพืชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ป่าชายเลนเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างบนบกและทะเล เป็นจุดเริ่มต้นห่วงโซ่อาหารชายฝั่ง จึงมีความสำคัญอย่างมาก และเป็นที่รวมของสัตว์ 3 น้ำคือ สัตว์น้ำจืด สัตว์น้ำกร่อย และสัตว์น้ำเค็ม แสดงให้เห็นถึงความหลายหลายทางชีวภาพ
งานวิจัยป่าชายเลนครั้งนี้มีความสำคัญ จะนำไปสู่การเปิดบทบาทการวิจัยแนวหน้าด้านป่าชายเลนของไทย รองรับการดำเนินการของโครงการ "สวนพฤษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9" ซึ่งเป็นสวนพฤษศาสตร์ป่าชายเลนแห่งแรกของโลกที่ จ.จันทบุรี
ป่าชายเลนสมบูรณ์เพิ่มเป็น 1.7 ล้านไร่
นายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช. ระบุว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านป่าชายเลนของโลก โดยในระยะแรกมุ่งเป้าศึกษาพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหายากใกล้ศูนย์พันธุ์ ตามบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนในฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน 24 จังหวัด
ก่อนหน้านี้มีพื้นที่ป่าชายเลนสมบูรณ์ทั้งหมด 1.5 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 1.3 ล้านไร่ ล่าสุดจากการสำรวจภาพถ่ายดาวเทียมของจีสด้า พบว่ามีพื้นที่ป่าชายเลนสมบูรณ์เพิ่มเป็น 1.7 ล้านไร่ คาดหวังว่าจะแตะ 2 ล้านไร่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล รวมถึงเครือข่ายชุมชนชายฝั่งกว่า 400 เครือข่าย มีสมาชิกกว่า 10,000 คนในพื้นที่จังหวัดชายทะเล ช่วยเป็นหูเป็นตาและแจ้งข่าว รวมถึงมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าชายเลน ขณะเดียวกันได้ดำเนินการจัดทำ "ป่าชายเลนในเมือง" เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยดูแล
ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เก็บตัวอย่าง 15 สปีชีส์เสี่ยงสูญพันธุ์
ดร.วิรัลดา ภูตะคาม หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม หน่วยวิจัยเทคโนโลยีจีโนม ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของ สวทช.จะใช้เทคโนโลยีในการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ผ่านศูนย์โอมิกส์ และธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมเป็นเรื่องสำคัญที่จะอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตทุกสปีชีส์ ไม่ใช่เฉพาะป่าชายเลน เพราะหากความหลากหลายทางพันธุกรรมตกลง โอกาสที่สปีชีส์นั้นจะสูญพันธุ์ก็มีสูงมาก
ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ จะใช้วิธีการสำรวจความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชป่าชายเลนในระดับดีเอ็นเอ ลำดับเบส ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด และสามารถเทียบกันระหว่างแล็บต่างๆ ทั่วโลกได้ โดยหากพบว่าพืชชนิดใดมีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำ ก็อาจจะต้องนำมาเพาะในสวนพฤษศาสตร์ต่อไป
สำหรับโครงการนี้ ทีมงานลงพื้นที่เก็บตัวอย่างใน จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร จันทบุรี เบื้องต้นจะวิจัย 15 สายพันธุ์ อาทิ โปรงแดง โปรงขาว โปรงหมู 2 สายพันธุ์ ถั่วดำ ถั่วขาว ลำแพน และลำแพนหิน เป็นต้น ซึ่งบางสายพันธุ์มีความเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างมาก นอกจากนี้ยังต้องศึกษาความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม (ความเค็ม ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ การนำไฟฟ้า ความเป็นกรด-ด่าง อุณหภูมิ และปัจจัยอื่นๆ) และแหล่งกระจายพันธุ์ของไม้ป่าชายเลนในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล เพื่อเป็นการอนุรักษ์ในถิ่นกำเนิด และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชายเลน
โดยการวิจัยในระดับจีโนมและพันธุกรรม จะมุ่งเป้าให้เกิดฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิงของพืชป่าชายเลน เพื่อศึกษาลักษณะพิเศษของพืชแต่ละชนิด รวมถึงวิธีการอนุรักษ์พันธุกรรมในสภาพปลอดเชื้อระยะยาว นำไปสู่การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ป่าชายเลน และปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต โดยในเฟสแรก ตั้งเป้าดำเนินการ 3 ปี และคาดว่าในเฟสที่ 2 จะขยายไปถึงสปีชีส์ใหม่ๆ ด้วย