วันนี้ (2 ต.ค.2563) นายปัญญา ชูพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวยอมรับว่าในการพัฒนาโครงการ Smart City ในพื้นที่ย่านพหลโยธินในปัจจุบัน ในส่วนของพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ซึ่งบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) เป็นผู้บริหารพื้นที่รถโดยสารอยู่ในปัจจุบันนี้ มีแนวทางการดำเนินงานนั้นชัดเจนว่า บขส.จะต้องปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะพื้นที่บางซื่อ โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานโดยตำแหน่ง การหารือของคณะกรรมการทุกครั้งชัดเจนว่า บขส.จะต้องย้ายออกจากพื้นที่เพื่อไปให้บริการในพื้นที่สถานีรถโดยสารแห่งใหม่
ทั้งนี้พื้นที่สถานีรถโดยสารใหม่ดังกล่าวจะรวมอยู่กับโครงการพัฒนา Complex ของบริษัท บางกอกเทอร์มินอล (BKT) ซึ่งเช่าพื้นที่พัฒนาโครงการจากกรมธนารักษ์หรือบริเวณพื้นที่หมอชิตเก่าซึ่งปัจจุบัน BTS ใช้ประโยชน์อยู่ โดยโครงการจะอยู่ติดริมถนนทั้งในส่วนของพหลโยธินและวิภาวดีรังสิต ด้านหน้าฝั่งถนนพหลโยธินนั้นจะมีอาคารคอมเพล็กซ์ ที่ประกอบด้วยศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม ส่วนพื้นที่ลานจอดรถขนาดใหญ่ด้านหลังจะมีการพัฒนาเป็นอาคารจอดรถ 2 ชั้น และเป็นสถานีปล่อยรถของ บขส. รวมถึงสำนักงาน บขส.อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
คาดว่างานก่อสร้างของ Complex จะแล้วเสร็จภายในปี 2567 ส่วน บขส.จะเข้าสู่ช่วงการเตรียมย้ายสถานี เพื่อไปให้บริการในพื้นที่ใหม่ตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเก่ามีมูลค่าลงทุน 26,000 ล้านบาท มีขนาดพื้นที่ใช้สอย 120,000 ตารางเมตร รองรับสถานีขนส่งหมอชิตย้ายกลับเข้ามาที่เดิม โครงการใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี โดย เป็นโครงการที่มีทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ การจัดพื้นที่สำหรับโครงการจอดแล้วจรรองรับผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้า รถเมล์ รถโดยสารสาธารณะ รถไฟ และรถ บขส. ประชาชนสามารถเดินทางเข้า-ออกกรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวก
สำหรับการย้ายย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ของ บขส.นั้นที่ผ่านมามีการเจรจาระหว่าง บขส. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มาต่อเนื่อง ซึ่งตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมเห็นว่าทั้ง 2 หน่วยงานเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเช่นเดียวกัน สามารถเจรจาเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สถานีรถโดยสารให้ชัดเจนได้ เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการและผู้บริหาร บขส. แสดงความประสงค์ต้องการใช้พื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ต่อไป เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับอู่รถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่อยู่ด้านข้าง สถานีรถตู้ถนนกำแพงเพชร (ฝั่งตรงข้ามสถานีหมอชิต 2)
รวมทั้งใช้เวลาในการเดินทางไม่นานในการเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งรถ Shuttle Bus ไปยังสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็นสถานีศูนย์รวมของระบบรถไฟ, รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด โดยทั้งการรถไฟ และ บขส. ต้องการหาผลสรุปใช้พื้นที่ ที่ชัดเจนโดยทั้ง 2 หน่วยงานและกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ สนข. เป็นผู้ทำแผนศึกษาเพื่อให้ได้ข้อยุติ