วันนี้ (2 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า FinCEN หน่วยงานของสหรัฐฯ ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะเงินที่เสี่ยงเป็นเงินผิดกฎหมาย ช่วงที่ผ่านมา FinCEN ตกเป็นข่าวหลังเอกสารลับกว่า 2,000 ฉบับ หลุดถึงมือนักข่าว ซึ่งเป็นเหล่านักข่าวที่เชี่ยวชาญการสืบสวนสอบสวนที่รู้จักกันในชื่อ ICIJ
เอกสารกว่า 2,000 ฉบับ เผยให้เห็นธุรกรรมทางการเงิน "ต้องสงสัย" ที่ธนาคารใหญ่ระดับโลกปล่อยให้มีการทำธุรกรรมเหล่านี้ ทั้งที่มีความเป็นไปได้ว่าธนาคารเหล่านี้รู้ว่าเงินที่ผ่านธนาคารของพวกเขา อาจเป็นเงินผิดกฎหมาย เช่น ธนาคาร HSBC ปล่อยให้นักต้มตุ๋นโยกเงิกหลัก "ล้านดอลลาร์" แม้เจ้าหน้าที่จะแจ้งเตือนว่าเงินก้อนนี้อาจได้มาจากการหลอกลวง
ธนาคาร Standard Chartered โยกย้ายเงินสดให้กับ Arab Bank ในจอร์แดนกว่า 10 ปี โดยมีหลักฐานว่าลูกค้าใช้เงินไปกับการสนับสนุนการก่อการร้าย หรือ J.P.Morgan ปล่อยให้มีการโยกเงินกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ทั้งที่ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของเงิน
การเปิดเอกสารของ FinCEN ทำให้ทั่วโลกตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบของธนาคารยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ซึ่งน่าจะมีขีดความสามารถที่จะตรวจสอบธุรกรรมต้องสงสัยและระงับธุรกรรมเหล่านี้ แต่ธนาคารระดับโลกกลับเลือกปล่อยผ่าน-ปล่อยให้ทำธุรกรรม
กลับมาที่ประเทศไทย มี 4 ธนาคารใหญ่ที่ปรากฎรายชื่ออยู่ในเอกสารลับ FinCEN ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย และ ป.ป.ง. ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง เพราะไทยมีกฎเกณฑ์การตรวจสอบอยู่แล้ว เช่นเดียวกับธนาคารที่ปรากฎชื่อที่ออกมาชี้แจงถึงเอกสารลับนี้
ไทยพีบีเอส จำแนกข้อมูลจากเอกสาร 2,000 ฉบับ โฟกัสที่ธนาคารไทย ใช้สัญลักษณ์ "วงกลม" แทนขนาดของจำนวนเงินมาก-น้อย ไล่ตั้งแต่ธนาคารที่มีเงินโอนเข้าคือ ธนาคารกรุงไทย, EXIM bank, กสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ ส่วนธนาคารที่มีเงินโอนออกคือ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ ส่งไปยังธนาคารใหญ่ในสิงคโปร์ เงินที่โอนเข้ามารวม 9 ล้านดอลลาร์ ส่วนเงินที่โอนออกไปกว่า 31 ล้านดอลลาร์
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน ธนาคารที่มีวงเงินเข้า-ออกสูง อย่างธนาคารกรุงเทพ พบการโอนเงินจาก Standard Chartered Bank จำนวน 4 หมื่นดอลลาร์ ที่ฮ่องกง และ Israel Discount Bank Ltd ที่อิสราเอลกว่า 5 ล้านดอลลาร์ ส่งมายังธนาคารกรุงเทพ ขณะที่ธนาคารกรุงเทพก็มีการโอนธุรกรรมต้องสงสัยไปยังธนาคาร CIMB ในสิงคโปร์กว่า 22 ล้านดอนลาร์ เส้นทางการเงินนี้ยังไม่มีรายละเอียดมากพอที่จะวิเคราะห์พฤติกรรมการโยกย้ายเงิน เพียงแต่ทราบเส้นทางการไหลเข้า-ออกเท่านั้น และยังไม่รู้ต้นทางว่าเงินมาจากไหนและถูกส่งไปถึงใคร
แม้เส้นทางการเงินในไทยยังไม่เห็นรูปแบบพฤติกรรมชัดเจน แต่หากวิเคราะห์เส้นทางการเงินทั่วโลกจากเอกสารกว่า 2,000 ฉบับ จะเห็นว่ากลุ่มประเทศมหาอำนาจผู้รวมตัวกันออกกฎหมายเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเงิน หรือป้องกันไม่ให้มีการฟอกเงินสกปรก กลับพบว่า "ธนาคาร" ในกลุ่มประเทศมหาอำนาจเสียเองที่มีการโยกย้าย "เงินต้องสงสัย" มากที่สุด
วัดจากปริมาณ "เงินต้องสงสัย" ที่ไหลเข้าไปยังประเทศเหล่านั้นจะพบว่า อันดับ 1 ที่มีการโอนเงินเข้าไปคือ ยุโรป มีเงินต้องสงสัยโอนเข้าไปกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 60% ของเงินทั้งหมด รองลงมาคือ เอเชีย 8,000 กว่าล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้ถูกโอนตรงมาที่ "อาเซียน" กว่า 40% ส่วนสหรัฐฯ มีเงินโอนเข้าไปยังธนาคารในสหรัฐฯ เพียง 8.9 % หรือ 3,000 ล้านดอลลาร์
แต่ที่น่าตกใจคือ จำนวนธุรกรรมและเม็ดเงินเข้า-ออกธนาคารในสหรัฐฯ กลับเป็นอันดับ 1 คือ The Bank of New York Mellon ที่มีจำนวนธุรกรรมและเม็ดเงินหมุนเวียน มากกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 66% ของธุรกรรมทั้งหมด รองลงมาเป็น Deutsche Bank มีธุรกรรมและเม็ดเงินไหลผ่านกว่า 6,100 ล้านดอลลาร์ หรือ 17%
ข้อมูลเหล่านี้ตอกย้ำถึงความไม่น่าไว้วางใจของธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลก ธนาคารที่น่าจะมี "ขีดความสามารถ" ในการคัดกรองธุรกรรมทางการเงินที่เสี่ยงเป็นเงินผิดกฎหมาย แต่กลับมีหลักฐานที่อาจเชื่อได้ว่าพวกเขาจงใจปล่อยให้มีการทำธุรกรรมเหล่านี้ ทั่วโลกที่ได้เห็นข้อมูลนี้จึงส่งเสียงไปยังประเทศมหาอำนาจ "ผู้คุมกฎ" ที่อาจเป็นผู้ทำผิดกฎเสียเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอกสารลับ FinCEN เปิดโปงธุรกรรมต้องสงสัยผ่านธนาคารชั้นนำ
"ปปง.-ธปท." ชี้แจง 4 ธนาคารไทยพัวพันธุรกรรมน่าสงสัย