(วันนี้ 5 ต.ค. 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่ไร่ชากว่า 4 หมื่นไร่ บนดอยพญาไพร ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย แหล่งปลูกชาแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ในอดีตคือพื้นที่ปลูกฝิ่น เพราะมีสภาพพื้นที่ และอากาศที่เหมาะสม
ปัจจุบันบนดอยพญาไพร ชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า จีน ลาหู่ และลีซู ทุกหลังคาเรือนหันปลูกชาเป็นอาชีพหลัก โดยมีโรงผลิตชาในหมู่บ้านมากกว่า 30 แห่ง ซึ่งชาที่ปลูกมี 3 ชนิด คือ ชาอัสสัม(ท้องถิ่น) ชาจีน(อูหลง,ชาเขียว), ชาน้ำมัน
ล่าสุดผลิตภัณฑ์ชา ของดอยพญาไพร ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ โดยคว้ารางวัล Gold Prize ในเวทีสากล The World Green Tea Contest 2020 จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดโดย World Green Tea Association โดยผลิตภัณฑ์ชาที่ไปคว้ารางวัลมา มี 2 คือ โรงงานชา 1x2 บ้านพญาไพรเล่ามา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชาเขียวอัสสัม และชาของบริษัท ชาดี 101 จำกัด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชาอู่หลงข้าว ฮาง-งอก
เชิดชาย ลาซี เจ้าของโรงงานชา 1x2 บ้านพญาไพรเล่ามา
นายเชิดชาย ลาซี เจ้าของโรงงานชา 1x2 บ้านพญาไพรเล่ามา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาชาบนดอยพญาไพร ขยายพื้นที่ปลูกเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน และส่งเสริมพัฒนาคุณภาพ ร่วมกับสถาบันชา และกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พัฒนาคุณภาพ และเข้าประกวด โดยชาที่ส่งเข้าประกวดเป็นชาที่ชาวบ้านดื่มเป็นประจำ ในชีวิตประจำวัน โดยชาที่ดอยพญาไพรจะมีกลิ่นหอม มีกลิ่นเฉพาะถิ่น ซึ่งได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI รสชาติของชาที่มีเอกลักษณ์ จนได้รับรางวัล Gold Prize ในเวทีสากล The World Green Tea Contest 2020 จากประเทศญี่ปุ่น
สำหรับ จ.เชียงราย ถือว่าเป็นแหล่งปลูกมากที่สุดในประเทศประมาณ 8 หมื่น 5 พันไร่ จากพื้นที่การปลูกชาทั้งหมดในประเทศประมาณ 1 แสน 5 หมื่นไร่ สร้างรายได้ให้กับ จ.เชียงราย ปีละหลายร้อยล้านบาท
โดยสายพันธุ์ที่ปลูกมากที่สุดร้อยละ 87 เป็นชาอัสสัม หรือชาพื้นเมือง ที่เหลืออีกร้อยละ 13 เป็นชาจีน มีผลผลิตทั้งหมดประมาณ 1 แสนตัน บริโภคภายในประเทศร้อยละ 89 และส่งออกร้อยละ 11 ของผลผลิตทั้งหมด