วันนี้ (8 ต.ค.2563) สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การใช้คำสั่งเรียก ตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ขัดกับ มาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเป็นการลดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบหรือไม่
"ไพบูลย์" แก้เกม "เสรีพิศุทธ์" เรียกนายกฯ แจงถี่
ที่มาของการวินิจฉัยครั้งนี้ เริ่มจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2562 เพื่อพิจารณาและส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียะเวส ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานกมธ. ป.ป.ช. ของสภาผู้แทนราษฎร ออกคำสั่งเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน โดยชี้ว่าการใช้คำสั่งเรียกที่ออกตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ขัดกับ มาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560
ผู้สื่อข่าว – พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะ กมธ.ฯ เกิดขึ้นจากการผลักดันของ ส.ส.ฝ่ายค้าน – ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ช่วงปี 2552-2553 แม้จะมีความขัดแย้งทางการเมืองที่เรียกว่า “สีเสื้อ” แต่ ส.ส.ทั้ง 2 ฝ่าย เห็นร่วมกันว่าควรมีกฎหมายที่ให้อำนาจ ส.ส.-ส.ว. เรียก เอกสาร หรือ บุคคล เข้ามาชี้แจง เพราะการสอบสวนของ คณะ กมธ. ในเวลานั้น ไม่สามารถเรียก บุคคล หรือ หน่วยงาน เข้ามาชี้แจงได้ ทั้งที่หลายกรณีที่มีการสอบสวนและกลายเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อประชาชนวงกว้างในภายหลัง
ผู้ตรวจ ชี้รัฐสภาไม่มีอำนาจ "บังคับ"
วันที่ 15 พ.ย.2562 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงข่าวว่า ผู้ตรวจฯ มีมติยื่นคำร้องของ นายไพบูลย์ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าการใช้คำสั่งเรียก เอกสาร หรือ บุคคล ตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะ กมธ.ฯ ปี 2554 ขัดกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560
สาระสำคัญที่ยื่นวินิจฉัยมี 3 มาตรา ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
มาตรา 5 ให้อำนาจคณะ กมธ. “ออกคำสั่งเรียก” เอกสาร หรือ บุคคลเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ คณะ กมธ.
มาตรา 8 กำหนดขั้นตอนการเรียก เอกสาร หรือ บุคคล ชี้แจงในประเด็นที่สอบสวน
มาตรา 13 กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม “คำสั่งเรียก” ของคณะ กมธ. โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554
สำหรับประเด็นที่ผู้ตรวจฯ วินิจฉัย คือ 1.) พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะ กมธ.ฯ เป็น พ.ร.บ. ที่อาศัยอำนาจาก มาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดให้คณะ กมธ. ทั้งสองสภามีอำนาจ “ออกคำสั่งเรียก” เอกสารจากบุคคล หรือ เรียกบุคคล มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่มีการพิจารณาสอบสวน
ซึ่งกรณีมีผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามให้มีโทษตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.) ต่อมา รธน. ปี 2550 ถูกยกเลิก และประกาศใช้ รธน.ปี 2560 ซึ่งบัญญัติหลักการสำคัญในประเด็นเดียวกันใน มาตรา 129 ระบุว่า คณะ กมธ. ทั้งสองสภามีอำนาจ “เรียก” เอกสารจากบุคคล และเรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่สอบสวน
นอกจากนี้ มาตรา 129 วรรค 5 ระบุว่า เป็นหน้าที่ของ “รัฐมนตรี” ที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น สั่งการให้เจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง
3.) ดังนั้น มาตรา 129 ของรธน. ปี 2560 จึงไม่ได้ “บังคับ” การเรียกและไม่ได้มุ่งเน้นที่จะลงโทษทางอาญาต่อบุคคลที่ถูกเรียก
คณะ กมธ.มีอำนาจเพียง ‘เรียก’ มิได้ให้อำนาจในการ ‘ออกคำสั่งเรียก’ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560
ภายหลังผู้ตรวจส่งเรื่องไปยังศาลรํฐธรรมนูญ วันที่ 15 พ.ย.2562 ใช้เวลา 10 เดือน กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการ “ออกคำสั่งเรียก” ขัดกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560
"เสรีพิศุทธ์" ยันไม่กระทบงาน กมธ. ป.ป.ช.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรํฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการลดกลไกการตรวจสอบของสภาฯ เพราะเมื่อคณะ กมธ.ฯ เรียกไปชี้แจง รัฐบาลไปชี้แจงทุกครั้ง ส่วนตัวหากไปไม่ได้ ก็จะส่งตัวแทนไปชี้แจง ซึ่งคำตอบไม่ต่างกับตนเองไปให้ข้อมูล และต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว
คำวินิจฉัยไม่เกี่ยวกับการลดอำนาจของรัฐสภา เพราะเวลาที่ กมธ.เรียกให้ชี้แจง รัฐบาลก็ไปทุกครั้ง ไม่เคยไม่ส่งคนไปเลย
ทั้งนี้อำนาจของ คณะ กมธ.ฯ ในการเรียกบุคคลไปชี้แจงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เพียงแต่ไม่สามารถดำเนินคดีทางอาญากับบุคคลที่ไม่ไปชี้แจงเท่านั้น
ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่กระทบต่อการทำงานของ กมธ. ป.ป.ช. มากนัก เพราะหากต้องเชิญ หน่วยงาน หรือ หัวหน้าส่วนราชการ ยังสามารถประสานไปยังรัฐมนตรี เพื่อให้สั่งการเจ้าหน้าที่เข้ามาชี้แจงได้ตามเดิม
แต่การเชิญเอกชนอาจจะดำเนินการได้ไม่เต็มที่ เพราะไม่มี “อำนาจออกคำสั่ง” เรียกมาชี้แจงตามกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้ได้ข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์
การเชิญเอกชนชี้แจงอาจจะทำได้ไม่เต็มที่ เพราะไม่มีอำนาจ ‘ออกคำสั่งเรียก’ แล้ว ซึ่งการสรุปข้อเท็จจริงทำได้ไม่สมบูรณ์
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งต่อจากนี้ต้องรอติดตามผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะ กมธ.ว่าเป็นอย่างไร และมีคณะ กมธ. กี่ชุดที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้