จากกรณีที่นายจำเนียร มูลเกษร หรือ ดอกไม้ป่า ป.พงษ์สว่าง อดีตนักมวยไทย ชาวบ้านดงบ่อ ต.ยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เสียชีวิต และญาติระบุว่าถูกตะขาบกัดที่บริเวณต้นขา มีอาการหนาวสั่น เวียนหัว เป็นไข้ แล้วปล่อยไว้หลายวันจนแผลติดเชื้อ จึงเข้ารับการรักษา ทำให้มีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ประกอบกับมีโรคประจำตัวเบาหวาน จึงมีอาการโคม่าจนเสียชีวิต
วันนี้ (8 ต.ค.2563)นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตะขาบเป็นสัตว์ขาข้อที่พบได้ทั่วไปในแถบร้อนชื้น อาศัยอยู่บนบก ตะขาบมีขนาดความยาวลำตัวตั้งแต่ 3–8 เซนติเมตร ลำตัวแบนราบ มีปล้อง 15–100 ปล้อง แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ ส่วนหัวแยกจากลำตัวชัดเจน มีหนวด 1 คู่ โดยมีเขี้ยวพิษ 1 คู่ ซึ่งดัดแปลงมาจากปล้องแรกของลำตัวเชื่อมต่อกับต่อมพิษ
พิษของตะขาบประกอบด้วยสารสองกลุ่มใหญ่ คือสารที่เป็นเอนโซน์หรือน้ำย่อย ซึ่งสารหลักในกลุ่มนี้คือ proteinases และ esterases และสารก่อปฏิกิริยาอักเสบต่อร่างกาย ได้แก่ hydroxytryptamine หรือ cytolysin ที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการปวด ชา อักเสบ และบวม
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการเมื่อถูกตะขาบกัด จะพบรอยเขี้ยว 2 รอย ลักษณะเป็นจุดเลือดออกตรงบริเวณที่ถูกกัด สารพิษจากตะขาบจะทำให้เกิดการอัก เสบ ปวดบวมแดง ร้อน และชาตรงบริเวณที่ถูกกัด อาการปวดมักจะมีความรุนแรงปานกลางถึงมาก โดยอาจจะมีอาการปวดแปลบร่วมด้วย
อาการแทรกซ้อน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตรงบริเวณที่ถูกกัด อาจเป็นแผลไหม้อยู่ 2–3 วัน ในบางรายอาจมีอาการแพ้หรือกระวนกระวาย อาเจียน หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มึนงง ปวดศีรษะ
ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การรักษาพิษของตะขาบ ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่อ่อนๆ ใช้ผ้าพันแผลพันไว้และประคบเย็น ให้ยาแก้ปวด ถ้าปวดมากอาจใช้ยาชาเฉพาะที่ เช่น Xylocane ฉีดเข้าตรงบริเวณที่ถูกกัด ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคถ้ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน และสอบถามเรื่องประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก
ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น บวมมาก ปวดมาก หรือมีประวัติของการแพ้มากให้รับไว้รักษาในโรงพยาบาลทันที การพยากรณ์โรคโดยทั่วไป ผู้ป่วยจะสามารถหายได้ตามปกติ โดยอาการปวดจะปวดมากในวันแรกๆ แต่จะหายภายใน 3-4 วันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เคยมีรายงานการเสียชีวิตจากตะขาบ 1 คนจากประเทศฟิลิปปินส์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดอกไม้ป่า ป.พงษ์สว่าง อดีตนักมวยดัง ถูกตะขาบกัดเสียชีวิต