เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 23 สิงหาคม ที่รัฐสภา นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน หรือ กลุ่มเสื้อหลากสี ได้ยื่นเอกสาร ให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ในประเด็นไม่เห็นด้วยกับ 12 นโยบาย ที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลง โดยระบุว่า จากการศึกษาคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ประกอบไปด้วย 8 กลุ่มนโยบายหลักและ 16 นโยบายเร่งด่วน พบว่าหลายนโยบายไม่ตรงตามที่หาเสียงไว้ หรือหากปฎิบัติแล้วจะเกิดผลเสียต่อประเทศอย่างรุนแรง ทั้งแอบแฝงไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน ทางเครือข่ายฯ ขอแสดงความเห็นต่อนโยบายของรัฐบาลให้สมาชิกรัฐสภา เพื่อประกอบในการพิจารณานโยบายของรัฐบาล
1.นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ ควรพึงกำหนดแนวทางในการปฏิบัติให้ชัดเจน โดยเฉพาะการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ล่วงละเมิดล้มล้างสถาบัน ตามกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเด็ดขาด รัฐบาลจะต้องไม่สนับสนุนการแก้ไขหรือยกเลิกกฏหมายอาญามาตรา 112 รัฐบาลต้องสนับสนุนเผยแพร่โครงการพระราชดำริให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศนำไปปฏิบัติ
2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ควรเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หลีกเลี่ยงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ต่อบุคลลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือกระทบต่อสถาบันหลักหรือระบบกฎหมายของประเทศ
3.การเยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง ควรคำนึงถึงหลักมาตรฐานในการชดเชยเยียวยาผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือผู้ที่เสียชีวิตจากการกระทำผิดในคดีอาญาโดยกรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้รับการชดเชยรายละ 1-5 แสนบาทเท่านั้น หากมีการจ่ายค่าชดเชยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดถึงรายละ 10 ล้านบาทเป็นการไม่สมควรกระทำ
4.การสนับสนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)ดำเนินการอย่างอิสระและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เป็นเรื่องสมควรกระทำรัฐบาลควรเร่งรัดให้ คอป. ดำเนินการอย่างรวดเร็วตรงไปตรงมา โปร่งใส ให้เป็นที่กระจ่างต่อสาธารณชน
5.การเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ เป็นเรื่องสมควรกระทำ แต่พึ่งระมัดระวังมิให้เหิดการเจรจาที่ทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะการเจรจาเรื่องเขตแดนและผลประโยชน์ทางทะเลกับประเทศกัมพูชา
6.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง เป็นเรื่องสมควรกระทำ แต่หากมีการแทรกแซงข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ซึ่งทางรัฐบาลจะต้องไม่แทรกแซงใดๆ อีกทั้งต้องดำเนินการติดตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นนักโทษหนีคดี ที่มีโทษจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตที่ดินรัชดาภิเษกกลับมาลงโทษ
7.นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท เป็นนโยบายที่แทรงแซงการประกอบการของผู้ประกอบการ และทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมาก
8.การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยอ้างว่าเพื่อชดเชยการที่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการรายย่อมจำนวนมากซึ่งต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น จะไม่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคลดังกล่าว
9.นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นนโยบายที่ดีแต่ในทางปฏิบัติ เกรงว่าจะเกิดการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน และรัฐบาลประชาธิปัตย์
10.การจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน ในขณะที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงประกาศว่าจะทำทันที แต่ในนโยบายกลับเป็นการดำเนินการนำร่อง อีกทั้งเนื้อหาเพื่อใช้กับเครื่องยังไม่ได้พัฒนา การเปลี่ยนงบประมาณจากการแจกหนังสือเรียนมาซื้อแท็บเล็ตจึงไม่เหมาะสม
11.นโยบายการบริหารทรัพสินย์ของประเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ แม้จะเป็นนโยบายที่ดูเหมือนว่าจะได้ประโยชน์แต่ก็มีความเสี่ยงสูง ควรระวังความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หากการลงทุนเกิดความผิดพลาดและเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง
12.นโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ทั้งหมดต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลนับ ล้านล้านบาท แต่ในทางตรงข้ามกลับลดรายรับของประเทศและทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียวินัยทางการเงิน การคลังของประเทศอย่างรุนแรง จนอาจเกิดความล้มเหลวทางเศรษฐกิจจนยากเยี่ยวยา จึงควรพิจารณาการใช้งบประมาณด้วยความรอบคอบ