วันนี้ (15 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครื่องจักรและคนงานของกรมชลประทานต่างเดินเครื่องเร่งทำงาน สำหรับซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราว บริเวณปากโครงการคลองลัดแม่น้ำตรัง ที่พังลงก่อนหน้านี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 วัน ตามคำสั่งของนายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย เมื่อวานนี้ (14 ต.ค.)
ทำนบดินพังยาว 4 กิโลเมตร
นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการรสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า การซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราว จะใช้หินบรรจุกล่องแกรเบียนวางตามแนวคันดินเดิม ประกอบกับระดมบานประตูน้ำ 8 บาน จากทั่วประเทศ มาประกอบใช้ในโครงการคลองลัดแม่น้ำตรัง เพื่อสร้างระบบควบคุมการระบายน้ำ
นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ชี้แจงว่า ทำนบดินชั่วคราวที่พังลง เป็นคันดินที่สร้างขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการก่อสร้างไม่ให้น้ำไหลเข้าพื้นที่โครงการ แต่เมื่อคันดินพังลง ก็ถือว่าคลองลัดความยาว 7 กิโลเมตรแห่งนี้ได้ใช้ประโยชน์ ช่วยระบายน้ำได้เร็วขึ้น แต่ยอมรับว่าชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มยังได้รับผลกระทบ
คุ้นกับชีวิตอพยพหนีน้ำท่วม
นางสมใจ กล่อมพงศ์ ชาวบ้าน ต.บางรัก อ.เมืองตรัง หนึ่งในผู้ประสบภัย กล่าวว่า เธอคุ้นชินกับการอพยพหนีน้ำมาทั้งชีวิต เพราะอาศัยอยู่ในบ้านริมแม่น้ำตรัง ครั้งนี้น้ำท่วมเข้าบ้านสูงเกือบ 1 เมตร และยังต้องรอประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ตรัง มี 7 อำเภอที่ได้รับผลกระทบจากทั้งหมด 10 อำเภอ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มและพื้นที่ปลายน้ำ ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำยังทรงตัว เนื่องจากน้ำทะเลหนุน น้ำระบายลงทะเลไม่ได้ และพบว่าหลายพื้นที่ยังมีฝนตกต่อเนื่อง