เปิดปม : โจรกรรมหนังสือบุด

สังคม
27 ต.ค. 63
17:24
669
Logo Thai PBS
เปิดปม : โจรกรรมหนังสือบุด
หนังสือบุดสมุดข่อยจำนวนหนึ่งหายไปจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มรภ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 กระจายไปอยู่ในความครอบครองของเอกชนจำนวนมาก นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งศูนย์บิณฑบาตรับคืนหนังสือบุดฯ สมบัติชาติที่ประเมินค่าเป็นเงินไม่ได้

จากโพสต์ภาพ ตำราสีมากถา สู่ คดีโจรกรรมหนังสือบุด

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดมืด ที่มีหนังสือบุดซึ่งเป็นเอกสารโบราณจากภาคใต้จำนวนมากหลุดเข้าไปในตลาดมืดโดยไม่มีใครรู้ที่มา เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ศึกษาหนังสือบุดโบราณนครศรีธรรมราช ตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีหนังสือบุดที่จัดแสดงที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช หายไป

ข้อสันนิษฐานนี้ชัดเจนขึ้น เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งโพสต์ภาพ “ตำราสีมากถา” หลายภาพหนึ่งในนั้นเป็นภาพ สีมากถา ตั้งอยู่บนหิ้งพระ มีหนังสือบุดอีก 2-3 เล่มวางอยู่ข้างหน้า และมี ธูปเทียนดอกไม้วางบูชาอยู่ด้านหน้า

 

นายสุรเชษฐ์ แก้วสกุล ผู้ประสานงานศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยนครศรีธรรมราช บอกว่า เมื่อเปรียบเทียบรูปแต่ละรูปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จึงมั่นใจว่า ตำราสีมากถาไม่ได้อยู่ในศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชแล้ว

ผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านนั้น ลงรูปทั้งหมด 8 รูปหนังสือสีมากถาถูกตั้งบนหิ้งพระที่บ้านของเขา มีธูปเทียนและดอกไม้วางบูชาอยู่ด้านหน้า เป็นเพราะการบูชาที่ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เราก็เทียบรูปแต่ละรูป เป็นขั้นเป็นตอน พบว่า ตรงกับที่มีหลักฐานว่า ราชภัฏได้เคยครอบครองเล่มนี้

นพ.บัญชา พงษ์พานิช หนึ่งในผู้ประสานงานช่วยเหลือศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผู้รับคืนตำราสีมากถาด้วยตัวเอง เล่าว่าตำราสีมากถา คือ องค์ความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างอุโบสถ ขอบเขตพัทธสีมา รวมถึงศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม เป็นหนังสือบุดที่มีทั้งภาพเขียนสี และอัตลักษณ์ลายลักษณ์อักษรท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราชชัดเจนสมบูรณ์เล่มหนึ่ง

 

ตำราสีมากถา เป็นหนังสือบุดเล่มแรกที่ศูนย์บิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับคืนจากเอกชนรายหนึ่งที่ซื้อผ่านสื่อออนไลน์ในราคากว่าหนึ่งแสนบาท และ ถูกนำมานับจำนวนรวมกับหนังสือบุดล็อตแรกที่มีการส่งคืนให้ทางศูนย์

 

24 กรกฎาคม 2563 เป็นครั้งแรก ที่ศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยจังหวัดนครศรีธรรมราช พระครูเหมเจติยาภิบาล ประธานศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดกล่องบรรจุหนังสือบุดที่ได้รับคืนจากผู้ครอบครอง ผ่านไปรษณีย์จากจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดเพชรบุรี เพื่อสำรวจสภาพโดยรวม โดยมีรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชในฐานะผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ พระธรรมกิตติเมธี เจ้าคณะภาค 16 17 และ 18 คณะสงฆ์ผู้เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าร่วมกันตรวจสอบหนังสือบุดหลายประเภท มีทั้งบุดพระมาลัย หนังสือบุดขาว หนังสือบุดดำ และหนังสือบุดตีนช้าง รวม 54 เล่ม

 

นพ.บัญชา บอกว่า สามารถแยกได้ว่าหนังสือบุดเล่มใดถูกนำออกมาจาก มรภ.นครศรีธรรมราช

มหาวิทยาลัยราชภัฏทำปกเสริมด้วยกระดาษแข็งแล้วหุ้มด้วยกระดาษสีแดง อันนี้เป็นลักษณะพิเศษของหนังสือบุดในคลังของมหาวิทยาลัยราชภัฏ หลายเล่มที่ถูกนำออกไปและรับคืนกลับมา พบว่ามีร่องรอยการฉีกปกที่มีกระดาษสีแดงออกไป

                         

นายสมปอง รักษาธรรม รักษาการอธิการบดี มรภ.นครศรีธรรมราช บอกว่า ขณะนี้ ยังมีหนังสือบุดที่ยังไม่เข้าปกอีกจำนวนกว่าพันเล่ม แต่ในส่วนที่มีการส่งคืนกลับมาและสามารถยืนยันได้ว่า เป็นหนังสือบุดที่อยู่ในการดูแลของมหาวิทยาลัยเนื่องจากมีร่อยรอยการฉีกปกที่เป็นของมหาวิทยาลัย

เมื่อคณะกรรมการจัดทำรายงานเสร็จเรียบร้อย มหาวิทยาลัยจะเห็นว่า หนังสือบุดมีจำนวนเท่าไร ที่ลงทะเบียนไว้เท่าไร ที่หายไปเท่าไร จะเห็นตัวเลขชัดเจน ส่วนที่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นของมหาวิทยาลัยก็คือที่มีการฉีกปก ค่อนข้างมั่นใจเกือบร้อยเปอร์เซนต์ว่าถ้ามีฉีกปกเป็นของมหาวิทยาลัย เพราะจากที่ฉีกปกดูแล้วก็ดูจากทะเบียนมันตรงกัน

 

บุดพระมาลัย เกิดขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ 1 หรือกว่า 220 ปี เป็นหนึ่งในหนังสือบุดที่ได้รับคืน เดิมเป็นสมบัติของวัดท่าโพธิ์วรวิหารพระอารามหลวง ก่อนมอบให้ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เก็บรักษาเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยครั้งนี้ พระราชญาณมุณี เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์วรวิหาร เข้าร่วมตรวจสอบด้วย พร้อมแสดงเจตจำนงค์ขอรับหนังสือบุด กลับไปอยู่ในความครอบครองของวัดดังเดิม

คุณค่าหนังสือบุด “แคปซูลเวลา” ตีราคาเป็นเงินไม่ได้

เอกสารโบราณประเภทสมุดข่อย หรือหนังสือบุด เป็นเครื่องมือบันทึกข้อความชนิดหนึ่งที่ชาวไทยทุกภาคได้ประดิษฐ์ขึ้นจากเยื่อต้นข่อยและเปลือกไม้กฤษณา นำมาทำเป็นกระดาษขนาดใหญ่ ตัดแต่งและพับเป็นทบ ๆ แต่ละเล่มอาจมีหลายพับ หลายขนาดแตกต่างกันไปตามจุดประสงค์การใช้งาน มีการเรียกสมุดข่อยต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคเหนือเรียกว่า พับสา ในพื้นที่ภาคใต้เรียกว่าหนังสือบุด

รูปเล่มของหนังสือบุด มีลักษณะเป็นสมุดพับ ที่มีกระดาษขนาดเดียวกัน พับไปพับมาซ้อนกันหลายๆ ชั้น หรือหลายๆ กลีบ ส่วนบนสุดและล่างสุดของหนังสือบุดแต่ละเล่ม จะใช้เป็นปกหน้าและปกหลัง ซึ่งมีลักษณะเป็นกระดาษหนา หรือกระดาษขัดมันพิเศษ ต่างจากกระดาษชั้นอื่น

 

สมุดข่อยถูกใช้ในการบันทึกตำนานเมืองหรือพงศาวดาร บันทึกคัมภีร์สำคัญทางพระศาสนา เช่น พระมาลัยและตำราอภิธรรมต่าง ๆ รวมทั้งบันทึกตำรายันต์และตำรับยาตั้งแต่ยุคโบราณจนกระทั่งถึงยุคสมัยการเข้ามาของกระดาษฝรั่ง การบันทึกเอกสารในสมุดข่อยจึงเสื่อมความนิยมลง

การบันทึกองค์ความรู้ของภาคใต้ มีทั้งด้านศาสนาศิลปวิทยา โดยพระเถระและนักปราชญ์แขนงต่าง ๆ ที่บันทึกความรู้ตกทอดมาจากครูบาอาจารย์ และสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชาวใต้

 

ต่อมา แม้การบันทึกความรู้ในสมุดข่อยเสื่อมความนิยมไป แต่ตัวสมุดข่อยยังมีความสำคัญอในฐานะเป็นเอกสารปฐมภูมิที่ใช้อ้างอิงความน่าเชื่อถือทางวิชาการในการศึกษาประวัติศาสตร์ ใช้ในการศึกษาวรรณกรรมต่าง ๆ ทั้งที่ช่วยจรรโลงศีลธรรมและความบันเทิงทางกวี ใช้ค้นคว้าตำรับยาโบราณที่ผ่านการทดสอบแล้วว่าใช้ได้ผลจริงเพื่อนำมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันที่มีผลข้างเคียงอยู่มาก

ช่วงปี 2513 ถึง 2528 วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชเริ่มสำรวจและรวบรวมสมุดข่อยที่เก็บรักษาอยู่ตามวัด และบ้านของชาวบ้าน นำมาเก็บรักษาไว้ในห้องสมุด ก่อนปรับปรุงและยกระดับห้องเก็บรักษาให้เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีอาคารสำหรับเก็บรักษาสมุดข่อยเหล่านี้เป็นการเฉพาะ โดยปฎิญาณต่อผู้บริจาคสมุดข่อยเหล่านี้ว่าจะรักษาเอาไว้อย่างดีในฐานะมรดกของบรรพชนคนใต้ และเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาศึกษาหาความรู้ สามารถรวบรวมสมุดข่อยมารักษาไว้ได้กว่า 3 พันเล่ม

 

พระครูเหมเจติยาภิบาล ประธานศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยนครศรีธรรมราช บอกว่า นครศรีธรรมราชเป็นเมืองนักปราชญ์ ข้อมูลนี้ปรากฎอยู่ในศิลาจารึก เมื่อบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตในเมืองนคร ต้องการถ่ายทอดความรู้ในด้านต่างๆ ไปยังลูกศิษย์รุ่นต่อๆ มา ก็มักบันทึกองค์ความรู้ที่ตกผลึกแล้วลงในหนังสือบุดสมุดข่อย

ท่ามกลางพระศาสนาวิถีชีวิตวัฒนธรรม เมื่อท่านเหล่านี้ตกผลึกทางความคิด ก็อยากเก็บข้อมูลไว้ถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป จึงจารึกองค์ความรู้ที่ผ่านการสังเคราะห์แล้วไว้ในสรรพตำราเหล่านี้ เพราะฉะนั้น ตำราเหล่านี้ไม่ใช่แค่เปลือกข่อย แต่เป็นองค์ความรู้ที่ผ่านกาลเวลา ถ้าจะเรียกว่า แคปซูลเวลา ได้ด้วยซ้ำไป

หนังสือบุดหรือสมุดข่อย คือ เอกสารหัตถกรรมโบราณทำจากเปลือกไม้ ในทางวิชาการจะเรียกว่า สมุดไทย มีทั้งตำรายา ตำราเวทมนตร์ โหราศาสตร์ การดูดวง สรรพวิชาโบราณอยู่ในสมุดเหล่านี้ ปัจจุบันมีคุณค่าที่ไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้

พัฒนาไฟล์ดิจิทัล เพิ่มช่องทางเข้าถึงหนังสือบุด 

พล.ต.ต.สนธิชัย อาวัฒนกุลเทพ ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลว่า เหตุโจรกรรมหนังสือบุดและวัตถุโบราณจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีผู้ต้องหาจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องในการเข้าถึงทรัพย์สินในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมได้ทั้งหมด ขณะนี้จับได้แล้ว 2 คน จากการสอบปากคำเบื้องต้นยอมรับว่ามีผู้นำหนังสือบุดออกมา ก่อนขายลักษณะแบบเจาะจงรายชิ้นตามใบสั่งนแวดวงซื้อขายของโบราณ และ ขายแบบยกลังใน 4 แหล่งคือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และระยอง

จะใช่ของราชภัฏหรือไม่ หรือ ก่อนหน้านั้นถ้าท่านมีไว้ในความครอบครองแล้วตำหนิรูปพรรณตรงกัน ก็ส่งคืนมาเถอะครับ เป็นสมบัติสำคัญของชาติบ้านเมือง ซึ่งน่าจะมาอยู่ในสถานที่ที่เขาสมควรอยู่ ไม่ใช่อยู่ที่ท่าน

ภายในช่วงระยะเวลา 1 เดือน ศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับคืนหนังสือบุดรวมทั้งสิ้น 536 รายการ

 

จากนั้นกรรมการพิจารณาตรวจสอบหนังสือบุด มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช สำรวจหนังสือบุดเพื่อจัดทำประวัติที่มาและเส้นทางซื้อขายของหนังสือบุดแต่ละเล่มที่ได้รับคืน ทำทะเบียนตำหนิรูปพรรณ ทะเบียนภาพถ่าย เทียบเคียงเนื้อหาในหนังสือบุดกับรายงานการศึกษาปริวรรต บันทึกข้อความหน้าแรกของหนังสือบุด และทะเบียนไมโครฟิล์ม มากกว่า 4,000 รายการ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา 2 ส่วน ว่าเล่มใดตรงกับหนังสือบุดที่แจ้งหายไว้ 309 เล่ม(เฉพาะส่วนที่ขึ้นทะเบียน) เพื่อส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยื่นสำนวนต่ออัยการในการดำเนินคดี นอกจากนี้ยังพิจารณาว่าหนังสือบุดเล่มใดอยู่นอกรายการแจ้งหาย ระหว่างการตรวจสอบหนังสือบุดคงคลัง เพื่อแจ้งหายเพิ่มเติม

 

หนังสือบุดจำนวน 536 รายการ จะเข้าสู่กระบวนการสแกนเป็นไฟล์ดิจิทัล เพื่อพัฒนาแผนการส่งมอบความรู้หนังสือบุด หรือเอกสารโบราณ ให้ผู้ที่สนใจเข้าถึงข้อมูลทางออนไลน์ได้ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง