วันที่ 2 พ.ย.2563 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พร้อมด้วย ผู้ว่าฯ พัทลุง ผู้แทนกระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น เชิญชวน และให้ความรู้แก่เกษตรกรในการเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2563 ที่ อ.เมือง จ.พัทลุง
โครงการดังกล่าวจำแนกความเสี่ยงในพื้นที่เพาะปลูก 3 ระดับ คือ สีเขียว(เสี่ยงน้อย) สีเหลือง(เสี่ยงกลาง) และสีแดง(เสี่ยงมาก)
เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. และเพาะปลูกในพื้นที่สีเขียวรัฐบาลจะอุดหนุนเบี้ยประกันให้ฟรี ส่วนพื้นที่สีเหลืองเกษตรกรจ่ายเบี้ยเพิ่ม 152 บาทต่อไร่ พื้นที่สีแดงจ่ายเพิ่ม 172 บาทต่อไร่ หากเกิดภัยธรรมชาติจะได้รับความคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ หากเกิดภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดจะได้รับความคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่
โดยเกษตรกรสามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มได้อีก พื้นที่สีเขียวเพิ่มเงิน 24 บาทต่อไร่ สีเหลือง 48 บาทต่อไร่ สีแดง 101 บาทต่อไร่ ก็จะได้รับความคุ้มครองเพิ่มอีกกรณีภัยธรรมชาติ 240 บาทต่อไร่ กรณีศัตรูพืชและโรคระบาด 120 บาทต่อไร่
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการใช้ระบบประกันภัยมาช่วยรองรับความเสี่ยงแก่เกษตรกรกรณีเกิดภัยพิบัติหรือโรคศัตรูพืชซึ่งทำต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว โดยในปี 2563 มีการกำหนดระยะเวลาการรับประกันภัยตามเวลาเพาะปลูกที่แตกต่างกันของแต่ละภาค
ภาคกลาง อีสาน และตะวันออก สิ้นสุดระยะเวลารับประกันภัยไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ภาคเหนือและอีสานตอนบน บางส่วนสิ้นสุดระยะเวลาไปแล้ว เมื่อวันที่ 31 พ.ค.
ภาคตะวันตกสิ้นสุดระยะเวลาไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ขณะนี้จึงเหลือเพียง 14 จังหวัดภาคใต้ ที่จะสิ้นสุดระยะเวลารับประกันในวันที่ 31 ธ.ค.นี้
โดย คปภ. มุ่งหวังอยากให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการทำประกันภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งปีนี้ (2563) มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศมากกว่า 43 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด เฉพาะจ.พัทลุง มีเกษตรกรปลูกข้าวนาปีที่เข้าร่วมโครงการแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่เพาะปลูก
ซึ่งในอนาคต คปภ. อยู่ระหว่างศึกษาการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพิ่มเติมในผลผลิตหรืออาชีพอื่นด้านการเกษตร เช่น ผลไม้ ยางพารา ปศุสัตว์ ประมง ฯลฯ เพื่อให้ครอบคลุมการประกอบอาชีพของเกษตรกรให้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ให้เกษตรกรมีหลักประกันทางอาชีพและรายได้ในยามเกิดภัยพิบัติและหรือโรคระบาดศัตรูพืช