วันที่ 5 พ.ย.2563 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนประชาชนที่อาศัยอยู่ชุมชนหลังหมอชิตเก่า เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เดินทางมาที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. เพื่อคัดค้านการเวนคืนที่ดินหลังหมอชิตเก่า ไปจนทะลุถ.วิภาวดีรังสิต
เพื่อนำไปสร้างทางยกระดับหรือถนนลอยฟ้า ใช้เป็นทางออกให้กับโครงการคอมเพล็กช์ของเอกชน ที่ได้รับสัมปทานจากกรมธนารักษ์บนพื้นที่หมอชิตเก่า
น.ส.วินินท์อร ปรีชาพินิจกุล ตัวแทนชุมชนหลังหมอชิตเก่า เปิดเผยว่า พวกเราไม่เห็นด้วยกับการเวนคืนที่ดิน เพื่อใช้เป็นทางออกจากโครงการคอมเพล็กช์ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นทางเข้า-ออก ของสถานีของ บริษัท ขนส่ง จำกัด ที่จะย้ายกลับมาอยู่ในโครงการนี้
เพราะนอกจากจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ต้องถูกเวนคืนที่ดินที่อยู่อาศัยแล้ว ยังเห็นว่าขัดต่อหลักการ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการให้รัฐได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเป็นการเวนคืนเพื่อการเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ถนนลอยฟ้าที่จะสร้างขึ้นมานี้ น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับโครงการคอมเพล็กซ์ของเอกชนมากกว่า เพราะสัดส่วนการใช้ประโยชน์ของบขส. ที่เข้าไปใช้พื้นที่ในโครงการนี้ มีเพียง 13-15 % เท่านั้น ส่วนอีก 85% เป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์ของเอกชน ที่จะทำเป็นศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม เซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์ อาคารเช่าจอดรถ เป็นต้น
น.ส.วินินท์อรกล่าวว่า การย้ายสถานีรถ บขส.กลับมาอยู่ในโครงการดังกล่าว ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้าง ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2563 ที่ประกาศ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2563 จำนวน 35 แปลง รวมระยะทางกว่า 530 เมตร
ซึ่งการเวนคืนที่ดินไม่มีเพียงแต่ทำให้ประชาชน ได้รับความเดือดร้อน แต่ยังต้องใช้งบประมาณจากเงินภาษี มาเป็นค่าเวนคืนที่ดินและก่อสร้างถนนลอยฟ้า เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเสียมากกว่า
นอกจากนี้ การย้ายสถานีขนส่งกลับเข้ามากระจุกตัวบนพื้นที่หมอชิตเก่า ยังจะสร้างความแออัด และสร้างปัญหาการจราจร และก่อมลพิษให้กับพื้นที่โดยรอบบริเวณดังกล่าวด้วย