เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งเป็นทีมสำรวจใต้น้ำ บอกว่า การลาดตระเวนสำรวจเก็บข้อมูล พบว่าสถานการณ์ระบาด COVID-19 ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมีระยะเวลาพักฟื้นยาวนานกว่าช่วงปิดฤดูการท่องเที่ยวแบบปกติถึง 2 เดือน ซึ่งมากพอที่จะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง
จุดดำน้ำเกาะยาง มีความโดดเด่นของปะการังจาน หรือปะการังผักกาด ด้วยรูปทรงคล้ายช่อผักกาดสีน้ำตาล ความกว้างของช่อเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ ปะการังชนิดนี้เจริญเติบโตอยู่ทั่วไปในแนวปะการัง ตั้งแต่เขตน้ำขึ้นน้ำลง ระดับน้ำ 2-3 เมตร ทำให้นักท่องเที่ยว มีโอกาสสัมผัสถูกปะการังและเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมโทรมได้ง่าย
เจ้าหน้าที่ บอกว่า บริเวณนี้เพิ่งเปิดให้เป็นจุดดำน้ำราว 4 ปี ทดแทนจุดดำน้ำเดิมอีกด้านของเกาะที่ปิดไป ผลจากการเก็บข้อมูลสำรวจเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงปิดอุทยานฯ 7 เดือน พบว่า ปะการังบริเวณนี้มีการฟื้นตัว เช่นเดียวกับจุดอื่น ๆ
นายอัสลัม สะกะแย นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อธิบายว่าปะการังจานเมื่อซ้อนกันจะเป็นช่อง ทำให้สัตว์ขนาดเล็กหลบภัยได้
ทีมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เดินทางต่อมายังด้านทิศตะวันตกของเกาะยาง ซึ่งเป็นจุดที่ปิดจุดดำน้ำ ไม่ให้มีการท่องเที่ยวมานานกว่า 4 ปี เพื่อให้ปะการังอ่อนได้ฟื้นตัว หลังพบว่าเรือและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากเกินไป ทำให้ปะการังอ่อนในแนวน้ำตื้นบริเวณนี้ตายเกือบทั้งหมด
เจ้าหน้าที่นำกล้องไปวางบนพื้นทราย ที่ความลึกระดับ 3 เมตร พบปะการังอ่อนที่เคยได้รับความเสียหายชูช่อสวยงาม เป็นดัชนีชี้วัดว่า ธรรมชาติสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ขณะที่บนพื้นทรายหลายจุด พบปะการังอ่อนเกิดใหม่
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล บอกว่า เหตุผลสำคัญที่ต้องเก็บข้อมูลและประเมินผลกระทบ เพื่อทำรายงานเสนอไปยังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สลับการเปิดปิดแหล่งดำน้ำแต่ละจุด ให้ทรัพยากรธรรมชาติได้มีช่วงเวลาพักฟื้น
เกาะหินงามถูกกำหนดขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวไว้ที่ 80 คนต่อช่วงเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ควบคุมดูแลประจำจุด ปีนี้นอกจากจะต้องควบคุมจำนวนคนให้เป็นไปตามความเหมาะสมกับทรัพยากรแล้ว สถานการณ์ระบาด COVID-19 ยังทำให้เกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบ New Normal มีระบบเช็คอินผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะ ขณะที่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ตระหนักถึงความแออัดหนาแน่นของแต่ละจุดท่องเที่ยวมากขึ้น
กาญจนพันธุ์ กำแพง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา มองว่า เรื่องนี้เป็นโอกาสที่ดีต่อการจัดการท่องเที่ยวในอนาคต โดยเฉพาะหากเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาได้
แม้ช่วงเวลา 7 เดือนของการประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จะทำให้ทรัพยาธรรมชาติถูกรบกวนจากกิจกรรมการท่องเที่ยวลดลง จนเห็นการฟื้นตัวเกิดขึ้นชัดเจน พบเห็นสัตว์ทะเลหายากได้บ่อยครั้งขึ้น เช่น ฉลามวาฬ เต่าทะเล
อย่างไรก็ตาม การลาดตระเวนอย่างเข้มข้นของเจ้าหน้าที่ ยังพบการลักลอบกระทำความผิดในเขตอุทยานฯ เช่น ไซขนาดใหญ่ที่ถูกลักลอบทิ้งไว้ในแนวปะการัง แต่การกำหนดแผนลาดตระเวนและออกปฏิบัติการอย่างเข้มข้นของเจ้าหน้าที่ในช่วงหลายปีมานี้ ทำให้การกระทำความผิดลดลงอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อวิกฤตทำให้ความสวยงาม ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติฟื้นกลับคืนมา จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญที่ทุกฝ่ายเริ่มมองเห็นทิศทางเปลี่ยนแปลงรูปแบบการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความยั่งยืน สอดคล้องกับที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีนโยบายให้อุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง ปิดพักฟื้นอย่างน้อย 2 เดือน