วันนี้ (11 พ.ย.2563) นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าแผนการหารายได้เพิ่มของการบินไทย ในช่วงที่อยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูเสนอต่อศาล โดยคาดว่าจะจบภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และหากศาลเห็นชอบจะเริ่มกระบวนการฟื้นฟูตามแผนได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564
ขณะเดียวกัน การบินไทยต้องปรับกลยุทธ์ในการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาสร้างรายได้ เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในช่วงที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งการบินไทยไม่สามารถทำการบินได้จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ซึ่งจากเดิมที่เคยมีรายได้กว่าปีละ 2-3 แสนล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส การบินไทยมีรายได้เหลือเพียงเดือนละ 5-6 ร้อยล้านบาท
นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า ได้ตั้งทีมสำรวจทรัพย์สินที่การบินไทยมีอยู่ในสต็อกทั้งหมด เพื่อนำมาสร้างรายได้ เบื้องต้นพบว่ามีสินค้ามูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านบาท เช่น ทิชชู จาน ชาม ช้อน แก้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งยังมียางล้อเครื่องบินที่มีทั้งสภาพดีและใช้งานแล้ว แกนล้อเครื่องบินที่สามารถนำมาดัดแปลงเป็นโต๊ะ ตู้โชว์ อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน รวมถึงผ้าหุ้มเบาะเก้าอี้ผู้โดยสารในเครื่องบินรุ่นเก่าที่ยังอยู่ในสภาพดี ซึ่งการบินไทยมีแผนที่จะนำผ้าหุ้มเบาะโดยสารที่เหลือค้างสต็อกอีกเป็นจำนวนมากมาตัดเป็นเสื้อคลุมสตรี
นอกจากนี้ยังมีแผนปรับอาคาร 3 สำนักงานใหญ่ ริมถนนวิภาวดีรังสิต ทั้งตึกเปิดเป็นพื้นที่สำนักงานให้เช่า รวมถึงอาคารรักคุณเท่าฟ้า ริมถนนวิภาวดีสังสิต และอาคารศูนย์ลูกเรือ ริมถนนโลคัลโรด ซึ่งขณะนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ติดต่อขอเช่าพื้นที่แล้ว ทั้งนี้การเปิดเช่าพื้นที่จะเริ่มได้ในปี 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"การบินไทย" ประกาศขายเครื่องบิน มือสอง 34 ลำ