สรุปแถลงนโยบายรัฐบาลวันแรก
ประเด็นที่ว่าที่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จี้จุดเป็นพิเศษ คือ การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ถูกมองว่า นายอภิสิทธิ์ มองเห็นจุดอ่อนในการตอบโต้ในสภาของนายกรัฐมนตรีที่ยังไม่ช่ำชองเหมือนนักการเมืองคนอื่น ขณะที่การลุกขึ้นชี้แจงการอภิปรายเมื่อวานนี้ ดูเหมือนว่า รัฐบาลจะวางขุนพลในการชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรีเกือบทั้งหมด แม้นายกรัฐมนตรีจะลุกขึ้นชี้แจงเป็นระยะ ๆ แต่ดูเหมือนน้ำหนักในการตอบโต้น่า จะไปอยู่ที่ดาวสภาของพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า
การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงครึ่งในการแถลงนโยบาย โดยแบ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที และนโยบายในระยะของการปฏิบัติงานตามวาระ 4 ปีของรัฐบาล ซึ่งนักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ว่า สิ่งที่รัฐบาลชูเป็นนโยบายเร่งด่วนส่วนใหญ่นั้น เป็นนโยบายประชานิยม และการช่วยเหลือเรื่องการลดค่าครองชีพของประชาชน
ส่วนนโยบายที่นักวิชาการหลายคนคาดหวัง คือ การดูแลค่าเงินเฟ้อที่อาจผันผวนในระยะนี้กลับเป็นนโยบายระยะยาวที่ห่วงใยกันว่า นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ตอบโจทย์การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเท่าที่ควรจะเป็น ขณะที่นักวิชาการบางคน มองว่า ประเด็นที่รัฐบาลแถลงในวันแรกมีข้อดีคือ เป็นนโยบายที่ครอบคลุมผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ถูกตั้งข้อสังเกตมากเป็นพิเศษในการแถลงนโยบายวันแรก คือ ถ้อยคำในนโยบายเด่น ๆ หลายประการของรัฐบาลชุดนี้ ที่แตกต่างจากนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียง เช่น นโยบายขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ เป็น 300 บาทต่อวัน นโยบายที่แถลงใช้ถ้อยคำเป็นให้แรงงานมีรายได้วันละไม่น้อยกว่า 300 บาทแทน ส่วนนโยบายเงินเดือน 15,000 บาทของผู้จบปริญญาตรี ใช้ถ้อยคำว่า มีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีนโยบายพลังงานเรื่องของการยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ในนโยบายระบุว่า เป็นการชะลอการจัดเก็บรวมไปถึงโครงการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กลายเป็นโครงการจัดหาแท็บเล็ตให้กับโรงเรียน
ถ้อยคำในนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปถูกตีความจากสื่อหลายแขนงว่า รัฐบาลพิจารณาเปลี่ยนถ้อยคำในเนื้อหาของนโยบาย ให้แตกต่างจากนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากต้องการให้ถ้อยคำเหล่านี้ไม่ถูกตีความตามกฎหมายในภายหลัง เพราะหากเขียนถ้อยคำที่ผูกมัดนโยบายจะต้องปฏิบัติตามที่ได้แถลงไว้ แต่การคงเนื้อหาเดิมแต่ปรับเปลี่ยนถ้อยคำอาจทำให้วิธีการในการดำเนินนโยบายมีทางออกในการปฏิบัติมากขึ้น
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอภิปรายถึงนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ว่า ไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เมื่อครั้งที่หาเสียงเลือกตั้ง โดยใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ และ ขาดการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการต่าง ๆ รวมทั้งไม่มีการต่อยอด หรือ พูดถึงนโยบาย หรือกฎหมายอีกหลายฉบับที่ยังค้างอยู่ในสภาในรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งหลายโครงการเป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
ด้านนายกรณ์ จาติกวนิช ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายโจมตีนโยบายรัฐบาล โดยระบุว่า เป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ เช่น การสกัดกั้นไม่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลเงินเฟ้อ ด้วยการ ลดภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ ทำให้ชาวบ้านที่ไม่มีรถต้องเสียภาษีแพงขึ้น รวมถึงนโยบายลดภาษีนิติบุคคลทำให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ต้องเสียภาษี 1 ใน 3 ของภาษีนิติบุคคลทั้งหมดได้รับประโยชน์ทั้งที่บริษัทเหล่านี้มีผลกำไรมหาศาล
นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง เช่น นโยบายบ้านหลังแรก โดยลดภาษีนิติบุคคล ภาษีเฉพาะและภาษีค่าโอนให้กับผู้ประกอบการบ้านจัดสรรที่มีกำไรเพิ่มขึ้นในปีล่าสุดถึงร้อยละ 33 และ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงข้อครหาที่ครอบครัวถือหุ้นในบริษัท เอส ซี แอสเซท บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ขนาดใหญ่
กรณีนี้นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงด้วยตัวเอง โดยยืนยันว่า วัตถุประสงค์ของนโยบายเป็นไปเพื่อต้องการให้ประชาชนตั้งตัวได้มีบ้านหลังแรกเป็นของตัวเองโดยลดภาษีให้กับประชาชนโดยตรงไม่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการหากมีความคิดช่วยเหลือผู้ประกอบการมีหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องดำเนินการด้านภาษีตามที่ถูกตั้งข้อสังเกต
ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงถึงนโยบายเศรษฐกิจ ที่หลายฝ่ายมองว่า ไม่มีการเร่งดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นนั้น นายกิตติรัตน์ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีนโยบายของรัฐบาลใดกำหนดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน แต่ยืนยันว่า จะสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจมหภาคในระยะยาว โดยเฉพาะมาตรการรองรับเงินเฟ้อและพลังงาน เช่น การชะลอการจัดเก็บเงินทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้ราคาน้ำมันลดลง และนโยบายยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ด้วยการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลมุ่งที่จะกระจายรายได้เพื่อให้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ส่วนการอภิปรายนโยบายรัฐบาลในวันนี้ ( 24 ส.ค.) จะมีขึ้นอีก 1 วัน ตามกรอบเวลาที่รัฐสภากำหนดไว้โดยการอภิปรายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เมื่อวานนี้ประธานสภาฯ ต้องลดเวลาในการปภิปรายของ ส.ส. และ ส.ว.ลงจนเหลือเพียงคนละ 3 นาทีเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลา 2 วัน ซึ่ง สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านหลายคนออกมาเรียกร้อง คือ ต้องการให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้แจง ในประเด็นต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
ขณะที่กำหนดการของนายกรัฐมนตรี มีการเปิดเผยว่า หลังจากการแถลงนโยบายสิ้นสุดลงในวันที่ 25 สิงหาคมนายกรัฐมนตรีจะเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ โดยช่วงเช้าจะเริ่มต้นด้วยการเป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นศิริมงคลในการบริหารราชการที่ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล และในช่วงบ่ายวันเดียวกัน จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อเดินหน้านโยบายต่าง ๆ ตามที่ได้แถลงไว้ ส่วนในวันที่ 26 ส.ค.จะประชุมชี้แจงนดยบายรัฐบาลกับหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ