ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิเคราะห์ : สนามเลือกตั้ง นายก อบจ. 8 จังหวัดเหนือ (ตอนบน)

การเมือง
21 พ.ย. 63
19:50
2,782
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : สนามเลือกตั้ง นายก อบจ. 8 จังหวัดเหนือ (ตอนบน)
ไทยพีบีเอสภาคเหนือสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิเคราะห์การเลือกตั้งนายก อบจ.ภาคเหนือตอนบน

ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มองว่า ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน หรือกลุ่มจังหวัดล้านนา มีความน่าสนใจ อดีตนายก อบจ.บางส่วนตัดสินใจวางมือไป เช่น น่าน (นรินทร์ เหล่าอารยะ นายก อบจ. 4 สมัย) ลำปาง (สุนี สมมี นายก อบจ. 3 สมัย)

เปิดโอกาสให้ผู้สมัครหน้าใหม่เข้ามาแข่งขัน แม้จะใหม่ในการเมืองท้องถิ่น แต่ก็มีประสบการณ์จากการเมืองระดับชาติ เช่น เชียงราย (วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ อดีต ส.ส.), ลำพูน (อนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีต รมต.)

หลายคนถือเป็นการเลือกที่จะปิดฉากชีวิตทางการเมืองของตัวเอง ด้วยการกลับมารับใช้บ้านเกิด เนื่องจาก อบจ.มีงบประมาณจำนวนมาก ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาจังหวัดได้เลย โดยไม่ต้องรองบประมาณของรัฐบาล

หลายจังหวัดที่น่าจะเป็นสนามการแข่งขันที่สูสีและดุเดือดคือ จังหวัดที่นายก อบจ.คนเดิม ยังตัดสินใจลงสมัคร โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ (บุญเลิศ บูรณุปกรณ์) กับแพร่ (อนุวัธ วงศ์วรรณ) ขณะที่แม่ฮ่องสอน (อัครเดช วันไชยธนวงศ์) ยังไม่มีคู่แข่งที่โดดเด่น

สำหรับ จ.เชียงใหม่ ที่ผ่านมาการแข่งขันผู้สมัครไม่มาก มีผู้ลงสมัครเพียง 4-5 คน แต่ครั้งนี้มีผู้สมัครนายก อบจ.ถึง 6 คน ในแง่การแข่งขัน น่าจะเป็นบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ (อดีตนายก อบจ. 2 สมัย กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม) กับ พิชัย หรือชูชัย เลิศพงศ์อดิศร (อดีต สว. พรรคเพื่อไทย)

ทั้งสองมีฐานการเมืองที่เข้มแข็ง ฐานเสียงของบุญเลิศ มีศักดิ์เป็นอาของ ส.ส.เขต 1 เชียงใหม่ และนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ คนปัจจุบัน รวมถึงมีเครือข่ายของ อปท.ที่อยู่รายรอบปริมณฑลเทศบาลนครเชียงใหม่ (อ.สันทราย อ.แม่ริม อ.หางดง อ.สันกำแพง อ.สารภี) และ ส.อบจ.ส่วนใหญ่ก็ยังให้การสนับสนุน

ส่วนพิชัยที่สร้างชื่อจากทำทีมฟุตบอล ทั้งเชียงใหม่เอฟซี และเชียงใหม่ยูไนเต็ด แม้จะมี ส.อบจ.บางส่วนที่หันมาสนับสนุน แต่ก็ไม่มากนัก ผู้สมัคร ส.อบจ.ในทีมส่วนใหญ่เป็นหน้าใหม่ทั้งสิ้น

จุดเด่นของพิชัยคือมีฐานเสียง ส.ส.ของเพื่อไทย ในเกือบทุกเขตเลือกตั้งของจังหวัดเป็นฐานทางการเมืองท้องถิ่น รวมถึงฐานของแฟนบอลอีกบางส่วน

ส่วนที่ จ.แพร่ อนุวัธ วงศ์วรรณ เป็นนายก อบจ.แพร่ยาวนาน ลงอิสะในชื่อกลุ่มฮักเมืองแป้มาตั้งแต่ปี 2551 ผ่านการเลือกตั้งที่ท้าทายหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยแพ้พ่าย ที่แพร่มี 2 ขั้วการเมืองหลัก คือ ประชาธิปัตย์ แกนนำอย่างนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู หรือแม่เลี้ยงติ๊ก ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และทำทีมฟุตบอลแพร่ ยูไนเต็ด กับขั้วเพื่อไทยที่นำโดยตระกูลเอื้ออภิญากุล

การเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อไทยตัดสินใจนาทีสุดท้าย สนับสนุน อนุวัธอย่างเป็นทางการ ชนกับ สุภวัฒน์ ศุภศิริ ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า

ซึ่งในปีที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส.ยกจังหวัด ปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล การเลือกตั้งจ.เเพร่ จึงน่าจับตาว่ากระแสการเลือกตั้งระดับชาติ จะส่งผลกับการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่

ด้าน จ.พะเยา คะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมาเกือบทุกจังหวัดภาคเหนือตอนบนเทไปพรรคเพื่อไทย ยกเว้นที่แพร่กับที่พะเยา โดยเฉพาะพะเยา จังหวัดที่พรรคไทยรักไทยเดิมไม่เคยพลาดเสียที่นั่งมาก่อน แต่คราวนี้เสียที่นั่งให้พรรคพลังประชารัฐไปถึง 2 ที่นั่ง

หนนี้ผู้สมัครที่เป็นตัวเต็งก็เป็นผู้สมัครที่ใกล้ชิดกับพรรคพลังประชารัฐ นั่นคือ อัครา พรหมเผ่า น้องชายรมช.เกษตรฯ (ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) และเพื่อไทย ไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งนายก อบจ. เหมือนเปิดทางให้คณะก้าวหน้าส่ง ชัยประพันธ์ สิงห์ชัย มีโอกาสสู้ โดยชื่อชั้นยังถือว่า ห่างกับน้องชายของ ร.อ.ธรรมนัสอยู่พอสมควร

สำหรับ จ.เชียงราย ในอดีตมีการแข่งขันระหว่างพรรคเพื่อไทย กับตระกูลจงสุทธนามณี (ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ) มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นระดับ อบจ.หรือเทศบาลนครเชียงราย

แต่ครั้งนี้ไม่มีคนในสายของจงสุทธนามณี ลงแข่ง จึงเป็นแข่งขันระหว่างพรรคเพื่อไทยกันเองระหว่าง วิสาระดี กับ อธิตาธร วันไชยธนวงศ์ ซึ่งทางพรรคตัดสินใจส่งวิสารดีลงแข่งขัน อธิตาธรจึงต้องลงในนามอิสระแทน

ผู้สมัครพรรคระดับชาติมีผลต่อการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นหรือไม่?

ในอดีตการเมืองระดับชาติกับท้องถิ่นแยกส่วนกัน แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ทำให้เกิดขั้วทางอุดมการณ์การเมืองที่แบ่งชัด ปัจจัยในการเมืองระดับชาติจึงเข้ามาชี้ขาดผลแพ้-ชนะในระดับท้องถิ่นด้วย

การเลือกผู้สมัครจึงไปยึดโยงกับข้อเรียกร้องในระดับชาติ แต่เอามาตัดสินวัดกันในเวทีท้องถิ่นด้วย

ปรากฎการณ์คราวนี้ยิ่งน่าสนใจ ที่พรรคการเมืองอย่างเพื่อไทย แถลงส่งผู้สมัครนายก อบจ.อย่างเป็นทางการรวม 25 จังหวัด ทั้งที่ผ่านมาไม่เคยประกาศทำนองนี้เลย เช่นเดียวกับคณะก้าวหน้า หรืออดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ส่งชิงชัยทั้งสิ้น 41 จังหวัด

ปรากฎการณ์ลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเห็นได้ชัดเจน พรรคการเมืองระดับชาติอาจเห็นว่า พื้นที่การเมืองท้องถิ่นมีความจำเป็นที่จะต้องรักษา หรือช่วงชิงมา เพื่อต่อยอดไปสู่การเมืองระดับชาติ และอาจต้องการแสดงผลงานเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นแต่ละจังหวัด

ส่วนพรรครัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ ไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งในนามพรรค ในแบบที่เป็นทางการ เนื่องด้วยกฎหมายการเลือกตั้งที่ กกต.ได้ออกระเบียบขยายความค่อนข้างกว้างขวาง เมื่อมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย จึงย่อมเป็นความเสี่ยงสูง

ด้วยเหตุนี้ พลังประชารัฐอาจมองเห็นเป็นความสุ่มเสี่ยงทางกฎหมาย ที่จะนำไปสู่การแจกใบเหลืองใบแดงของ กกต. แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่ามีผู้สมัครที่ยึดโยงกับพรรคพลังประชารัฐอยู่ในหลายจังหวัด

กลุ่มเยาวชนจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เหมือนการเลือกตั้งระดับชาติหรือไม่?

ประเด็นสำคัญคือ คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ได้อยู่ในบ้านเกิด แต่ไปศึกษาอยู่ต่างถิ่น และเป็นช่วงเปิดเทอม ย่อมเป็นการยากที่จะเดินทางกลับไปเลือกที่ต่างจังหวัด ประกอบกับต้นเดือนและปลายเดือนธันวาคม มีช่วงวันหยุดยาวขนาบอยู่ก่อน-หลังวันที่ 20 ธ.ค.

และบางส่วนที่ย้ายทะเบียนบ้านมาที่สถานที่ศึกษาก็ประสบปัญหาไม่ทราบข้อมูลที่จะใช้ตัดสินใจ เหตุผลในการเลือกจึงยึดโยงกับนโยบายพรรคการเมืองระดับชาติชนิดแยกไม่ออก

การตื่นตัวของประชาชนหลังเว้นการเลือกตั้งท้องถิ่นมานาน?

ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิไม่เคยสูงเท่ากับการเลือกตั้งระดับชาติ จากสถิติที่ผ่านมา เช่น จ.เชียงใหม่ อยู่ระดับมากที่สุดเพียง 70 % แต่โดยทั่วไปจะอยู่ระดับ 60 % กว่าตลอด เทียบกับเลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจะอยู่ที่ 80 % หรือใกล้เคียงมาโดยตลอด

สถิติของการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจะทิ้งระยะห่างอยู่ที่ราว 10-20 % ครั้งนี้ก็อาจเป็นเหมือนเดิม เพราะเต็มไปด้วยข้อจำกัด เช่น ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่มีการเลือกตั้งนอกเขต การประชาสัมพันธ์ที่อ่อน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดทำให้ยากที่จะกลับภูมิลำเนาได้บ่อยๆ

การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญ?

การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ลองนึกถึงทุกครั้งที่เราเติมน้ำมัน เปอร์เซ็นต์ของเงินที่จ่ายไปส่วนหนึ่งนั่นคือเงินที่ส่งตรงเข้า อบจ. แต่ละปีๆ อบจ.มีงบประมาณให้ใช้จ่ายมหาศาล อย่างเชียงใหม่ก็มีมากกว่า 1 พันล้าน รวมทั้งรายได้ที่จัดเก็บเอง และรัฐบาลอุดหนุนให้

 

โกวิท บุญธรรม
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง