วันนี้ (22 พ.ย.2563) กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์ "โรคบรูเซลโลสิส" หรือโรคแท้งติดต่อในสัตว์ ซึ่งเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เกิดจากเชื้อ Brucella spp. มีสัตว์จำพวก โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สุนัข เป็นแหล่งรังโรค ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับเนื้อเยื่อ เลือด ปัสสาวะ สารคัดหลั่งจากช่องคลอดของสัตว์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีแผล หรือรอยขีดข่วน หรือการดื่มน้ำนมดิบ หรือใช้ผลิตภัณฑ์นมดิบจากสัตว์ที่มีเชื้อ
อาการที่พบ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เหงื่อออกมากในตอนกลางคืน หนาวสั่น ปวดตามข้อ มึน ซึม น้ำหนักลด และปวดตามร่างกาย อาการป่วยอาจเป็นๆ หายๆ นานหลายวัน หลายเดือน บางครั้งอาจเป็นปีหรือนานกว่า
วิธีป้องกันหากต้องสัมผัสแหล่งน้ำ-ดินแฉะ
ขณะที่ผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หากจำเป็นต้องสัมผัสแหล่งน้ำหรือดินชื้นแฉะ ซึ่งอาจปนเปื้อนเลือด ปัสสาวะ สารคัดหลั่งจากช่องคลอดของสัตว์ ควรป้องกันด้วยการสวมรองเท้าหุ้มส้นหรือบูทยาว สวมถุงมือ และเมื่อนำสัตว์ตัวใหม่เข้ามา ให้แยกก่อนให้อยู่ร่วมกับสัตว์ฝูงเดิม หากพบสัตว์ป่วยตายหรือแท้งลูก ควรแจ้งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเพื่อตรวจหาเชื้อและการติดเชื้อบรูเซลลาในฟาร์ม รวมถึงตรวจสอบฟาร์มที่อยู่บริเวณใกล้เคียงว่ามีการระบาดของโรคบรูเซลโลสิสหรือไม่
หากตรวจพบสัตว์ติดเชื้อบรูเซลลา ควรทำลายสัตว์และห้ามจำหน่ายสัตว์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังควรจัดพื้นที่เลี้ยงสัตว์ให้เป็นสัดส่วนมีรั้วรอบขอบชิด แยกห่างจากพื้นที่พักอาศัย เมื่อมีอาการป่วยข้างต้นควรรีบปรึกษาแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยงแก่แพทย์ผู้รักษา เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง และสำหรับประชาชนทั่วไป ควรหลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ดิบ นมดิบ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วอย่างเหมาะสม ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ปี 63 พบป่วย "โรคบรูเซลโลสิส" 9 คน
จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 10 พ.ย.2563 พบผู้ป่วยแล้ว 9 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ เพชรบูรณ์ ลำพูน นครราชสีมา กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 55-64 ปี รองลงมาคือ 35-44 ปี และมากกว่า 65 ปี พบมากที่สุดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ยังพบว่าข้อมูลการตรวจสอบข่าวการระบาด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 18 พ.ย.2563 พบเหตุการณ์ที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด 6 เหตุการณ์ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ (3 เหตุการณ์) นครสวรรค์ สิงห์บุรี และนนทบุรี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ หรือทำงานในฟาร์ม
แม้ว่าจะมีรายงานผู้ป่วยจำนวนไม่มาก แต่จากข้อมูลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ พบว่าเฉพาะในเดือน พ.ย.ถึงปัจจุบัน มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 2 เหตุการณ์ จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติทำคลอดแพะ คลุกคลีกับแพะ ทำแผลให้แพะโดยไม่สวมถุงมือป้องกัน และมีผู้ป่วยบางคนแม้ไม่ทำงานในฟาร์ม แต่พบว่ามีประวัติดื่มนมแพะดิบ
กรมควบคุมโรค ยังคาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคบรูเซลโลสิสเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีรายงานผู้ป่วยจำนวนไม่มาก แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หรือผู้ที่ทำงานในฟาร์ม อาจมีการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อ เนื่องจากต้องทำงานคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง ทำให้อาจติดเชื้อดังกล่าวได้