วันนี้ (25 พ.ย.2563) เวลา 12.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร และคณะผู้บริหาร ทส. ลงพื้นที่ ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
เพื่อติดตามการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬ หลังได้รับแจ้งการค้นพบจาก บริษัท ไบรท์ บลู วอเตอร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เจ้าของพื้นที่ เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2563 ที่ผ่านมา
โดยการสำรวจขุดค้นซากวาฬ ตามหลักวิชาการ ในพื้นที่ได้มีการดำเนินการโดย กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์และความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่ และทีม ThaiWhales
ผลการสำรวจขุดค้นเพิ่มเติมพบว่า ชิ้นส่วนกระดูกวาฬสะสมตัวอยู่ในตะกอนดินเหนียวทะเลโบราณ โครงกระดูกวาฬที่พบมีการเปลี่ยนสภาพจากการแทนที่ของแร่ธาตุอื่นยังไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่มีสภาพค่อนข้างเปราะบาง
ดังนั้นจึงเร่งทำการสำรวจขุดค้น ตั้งแต่วันที่ 9-15 พ.ย.2563 พบมีกระดูกวาฬอีกหลายชิ้นที่เรียงตัวต่อเนื่อง และขุดค้นได้มากกว่าร้อยละ 50 ประกอบไปด้วย กระดูกสันหลังที่สมบูรณ์ 19 ชิ้น กระดูกซี่โครง ข้างละ 5 ชิ้น สะบักไหล่ และแขน (ครีบ) ด้านซ้าย
ต่อมาคณะสำรวจได้เข้าพื้นที่ เพื่อทำการสำรวจเพิ่มเติมอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 2563 ผลการค้นพบชิ้นส่วนกระดูกวาฬเพิ่มเติม รวมมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนลำตัวถึงส่วนคอ กระดูกซี่โครง และกะโหลกพร้อมขากรรไกรสภาพสมบูรณ์ หลังจากนี้จะนำตัวอย่างไปอนุรักษ์ในห้องปฏิบัติการ และเตรียมศึกษาวิจัย เพื่อระบุสายพันธุ์ต่อไป
นอกจากโครงกระดูกวาฬแล้ว คณะสำรวจยังพบซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในบริเวณโดยรอบ อาทิ ฟันฉลาม ฟันกระเบน เปลือกหอย ปูทะเล เพรียงทะเล และเศษไม้ และได้นำตัวอย่าง เปลือกหอย ซากพืช และกระดูกวาฬ ส่งวิเคราะห์หาอายุด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 (C-14) คาดว่า จะทราบผลประมาณอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า
จากการพบโครงกระดูกวาฬบนแผ่นดิน ห่างจากชายฝั่งทะเล ปัจจุบันประมาณ 12 กิโลเมตร ในครั้งนี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน
อีกทั้งสามารถศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของวาฬและสัตว์ทะเลในอดีต และได้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพ จากการพบซากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ร่วมกับวาฬ
นอกจากนี้ผลที่ได้จากการสำรวจ ด้วยวิธีการเจาะสำรวจศึกษาชั้นตะกอนดินและเทียบสัมพันธ์ ยังช่วยในการแปลความหมาย ถึงสภาพแวดล้อมในอดีต การหาขอบเขตชายทะเลโบราณในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา
ตลอดจน ศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลในปัจจุบันและอนาคตที่มีผลจากปัจจัยทางธรณีวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งจะได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ต่อไป