วันนี้ (30 พ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตัวแทน 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อประชาชน เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค อ้างว่าจนถึงนาทีนี้ ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจาก นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อแสดงเจตจำนงขอให้ส่งตัวแทน จำนวน 2 คน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมาฉันท์ อีกทั้งยังไม่ทราบรายละเอียด หรือแนวทางในการ ขับเคลื่อนของคณะกรรมการฯชุดนี้
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตถึงการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมา เพื่อเป็นการยื้อเวลาในการอยู่ต่อของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งนี้เงื่อนไขของปัญหาความขัดแย้งเกิดจากรัฐบาล กับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ดังนั้นเพื่อให้ต้นของปัญหายุติ พลเอก ประยุทธ์ ควรต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ต้นตอของปัญหาคือนายกรัฐมนตรีต้องลาออก เพราะที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย และหลังการบริหารงานมีปัญหาหลายอย่างทั้งความเหลื่อมล้ำ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ส่วนการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ถ้ามองว่าเป็นการยื้อเวลา คิดว่ากรรมการชุดนี้ไม่มีประโยชน์
ส่วนนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การที่จะสร้างเงื่อนไขให้เกิดความสมานฉันท์ได้ จะต้องมีเรื่องสำคัญ 3-4 ประเด็นสำคัญ คือเงื่อนไขเรื่องนายกรัฐมนตรี ลาออกจะสร้างสภาพแวด
ล้อมทางการเมืองที่เอื้อต่อการแก้ไขความขัดแย้งได้
นอกจาก 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังเสนอรัฐบาลให้ยุติการเพิ่มเงื่อนไขของปัญหาความขัดแย้ง ทั้งการหยุดดำเนินคดีทางการเมือง หยุดบังคับใช้มาตรา 112 และ มาตรา 116 รวมถึงมาตรการควบคุม หรือการสลายการชุมนุมต้องยึดหลักตามสากล หยุดสร้างความเกลียดชัง ทางสังคมผ่านการทำ ไอโอ การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งต้องเปิดพื้นที่พูดคุยถึงปัญหาความขัดแย้งกันกรณีปฏิรูปสถาบัน