เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2563 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อุบัติเหตุพลัดตกหน้าผาสามารถเกิดขึ้นได้ จากการที่นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมธรรมชาติหรือทะเลหมอก บริเวณหน้าผาสูงตามอุทยานแห่งชาติ ภูเขา หรือยอดดอยต่างๆ โดยอุบัติการณ์พลัดตกหน้าผาในประเทศไทย จากการเฝ้าระวังข่าวจากสื่อในช่วงปี 2560-2562 เกิดเหตุ 22 ครั้ง เสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บ 13 คน ส่วนในปี 2563 ตั้งแต่เดือน ม.ค.- พ.ย. เกิดเหตุ 8 ครั้ง เสียชีวิต 6 คน และบาดเจ็บ 2 คน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-39 ปี
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ 3 อันดับที่เกิดเหตุพลัดตกมากที่สุด คือ 1.หน้าผาจุดชมวิว ร้อยละ 60, 2.หน้าผาน้ำตก ร้อยละ 30 และ 3.สันเขา ลานกางเต็นท์ ร้อยละ 3 ส่วนใหญ่เกิดจากการลื่นไถล ก้าวพลาด สะดุดก้อนหิน ทำให้ตกหน้าผาเสียชีวิต และพบพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยคือ เข้าไปถ่ายรูปหรือเซลฟี่ริมหน้าผา เสียชีวิตมากถึงร้อยละ 80
นพ.โอภาส ยังมีข้อแนะนำสำหรับการท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างปลอดภัย 5 ข้อ ดังนี้ 1.ไม่ควรเข้าพื้นที่จุดเสี่ยงอันตราย ไม่ออกนอกเส้นทาง 2.สังเกตป้ายเตือน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 3.หลีกเลี่ยงถ่ายรูปหรือชมทิวทัศน์บริเวณริมหน้าผา จุดชมวิวที่ไม่มีไม้กั้น ชะง่อนหิน ไหล่เขาที่มีทางเดินแคบ 4.ไม่ควรท่องเที่ยวเพียงลำพัง ควรมีคนนำทางหรือเจ้าหน้าที่ไปด้วยเพื่อความปลอดภัย 5.ควรเตรียมร่างกาย เสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยวให้พร้อม ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422