ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : นิคมฯสระแก้วกลายพันธุ์

สังคม
15 ธ.ค. 63
13:20
2,429
Logo Thai PBS
เปิดปม : นิคมฯสระแก้วกลายพันธุ์
ความพยายามที่จะเปลี่ยนนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้วให้สามารถตั้งโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการกำจัดขยะได้เพื่อกอบกู้นิคมฯแห่งนี้ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ตั้งคำถามต่อ กนอ. ที่เคยให้คำมั่นว่า จะทำให้นิคมฯสระแก้วปราศจากโรงงานที่มีปล่องควัน

ที่ดินเนื้อที่กว่า 660 ไร่ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ถูกใช้เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่ปี 2561 ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่กำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้นทั่วประเทศ เมื่อปี 2557

 

แม้ชาวบ้านในตำบลป่าไร่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ก็ยินยอมให้มีนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาตั้งในพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นป่าชุมชม สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอของนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว กำหนดประเภทของอุตสาหกรรมห้ามตั้งไว้ทั้งหมด 27 รายการ โดยมีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทุกประเภท และโรงงานที่มีกระบวนการผลิตหรือเผาไหม้เชื้อเพลิงและระบบการระบายออกทางปล่องอยู่ในกลุ่มนี้

 

หลังจากนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วเปิดดำเนินการมาได้ 2 ปี ในเดือนมิถุนายน 2563 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้นอีกครั้งที่นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อขอแก้ไขอีไอเอของนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว เป็นเหตุให้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเนื้อหาในอีไอเอ เกิดความกังวลถึงผลกระทบที่อาจตามมา

เนื้อหาบางส่วนในเอกสารรประกอบการรับฟังความคิดเห็นเพื่อขอแก้ไขอีไอเอของนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ซึ่งจัดทำขึ้นใหม่ในปี 2563 ระบุว่าจะเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วไปในเขตนิคมอุตสาหกกรรมสระแก้วจาก 241 ไร่เป็น 335 ไร่ ขณะที่พื้นที่อุตสาหกรรมบริการ ลดลงจาก 89 ไร่เหลือ 44 ไร่

 

ส่วนเขตการค้าเสรี ลดลงจาก 59 ไร่ เหลือ 25 ไร่ นอกจากนี้ ยังขอเพิ่มกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กขั้นกลางและขั้นปลาย กลุ่มพลังงานไฟฟ้าทางเลือก ได้แก่ โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF (เชื้อเพลิงขยะ) โรงงานหม้อเก็บพลังงานไฟฟ้าหรือหม้อกำเนิดไฟฟ้าชนิดแห้ง รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมกิจการบริการและสาธารณูปโภคเกี่ยวกับการนำกากอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์และแปรรูปเพื่อเป็นพลังงานและเชื้อเพลิงทดแทน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในรายชื่อประเภทโรงงานห้ามตั้งในอีไอเอฉบับดั้งเดิมทั้งสิ้น

เมื่อดูจากรายละเอียดในอีเอไอฉบับที่มีการจัดทำขึ้นใหม่ พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตอุตสาหกรรมทั่วไปจะถูกใช้ไปกับกิจการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงRDF และการกำจัดขยะ โดยจะมีโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงRDF ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ทั้งหมด 5 โรง โรงผลิตเชื้อเพลิง RDF 2 โรง เตาเผาขยะอุตสาหกรรมและระบบสนับสนุน 1 แห่ง และหลุมฝังกลบ 1 หลุม ทั้งหมดกินพื้นที่ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไปกว่าร้อยละ 80

 

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ความเห็นว่า หากโครงการนี้ดำเนินการสำเร็จ นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งกำจัดของเสียครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

สิ่งที่จะเป็นปัญหาใหญ่ในวันข้างหน้าคือการกระจุกตัวของมลพิษที่อยู่รอบ ๆ ทั้งหมด ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีการทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทางสุขภาพ ที่เราเห็นจะมีแค่การประเมินผลกระทบของตัวนิคมอุตสาหกรรม วันข้างหน้าถ้าดูจากกิจการที่อนุญาตให้ตั้งเพิ่มได้ ปัญหาใหญ่ของพื้นที่นี้ คือ เรื่องมลพิษและฝุ่น

นายธาดา สุนทรพันธุ์ รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุถึงความเป็นมาของการแก้ไขอีไอเอของนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วว่า เป็นเพราะนับตั้งแต่ปี 2561 ที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เปิดอย่างเป็นทางการ มีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาตั้งในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เพียง 3 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานที่เปิดดำเนินการแล้ว 2 โรงงาน และอยู่ระหว่างขั้นตอนขออนุญาตดำเนินการอีก 1 โรงงาน กนอ.จึงมีแผนปรับรูปแบบอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดให้กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้มากขึ้น

เราพบข้อจำกัดของอีไอเอเดิมที่กำหนดอุตสาหกรรมห้ามตั้งในพื้นที่กล่าวคืออุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตหรือมีการใช้การเผาไหม้ทางเชื้อเพลิงหรือมีระบบการระบายทางปล่องไม่สามารถตั้งในนิคมฯสระแก้วได้ ทำให้โรงงานที่ต้องมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สามารถเข้ามาประกอบกิจการได้  เราจึงมีแนวคิดที่จะศึกษาว่า หากมีการเพิ่มเติมประเภทหรือชนิดของโรงงาน ก็จะทำให้นิคมฯสระแก้วมีช่องทางให้นักธุรกิจมีความสนใจมากขึ้น

ปัจจุบันการจัดทำอีไอเอของนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้วฉบับใหม่ ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่

 

รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลว่า หลังจากได้รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขอีไอเอของนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ได้ร่วมกันพิจารณาว่าจะเพิ่มชนิดโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วเพียงประเภทเดียว นั่นคือ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงRDF โดยจะไม่มีการตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงRDF และ เตาเผาขยะอุตสาหกรรมและหลุมฝังกลบในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นอันขาด

ทั้งนี้ทางกนอ.มีแผนจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้นอีกในอนาคต และ คาดว่าอาจต้องใช้เวลาราว 6-8 เดือนก่อนจะได้ข้อยุติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง