วันนี้ (15 ธ.ค.2563) นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ทีมสำรวจจากกรมทรัพยากรธรณีได้เริ่มปฏิบัติการเก็บกู้โครงกระดูกวาฬอำแพง ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. - 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดพบชิ้นส่วนกระดูกเกือบสมบูรณ์ทั้งตัว ประกอบด้วย กระดูกสันหลัง ซี่โครง กะโหลกและขากรรไกรและแขนและมือ (ครีบ) ข้างขวา ซึ่งถือว่าสมบูรณ์กว่าร้อยละ 90 รวมจำนวน 127 ชิ้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนอนุรักษ์ตัวอย่างที่ห้องปฏิบัติการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี
ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี
จากตัวอย่างทั้งหมด 127 ชิ้น ได้ทำการอนุรักษ์ตัวอย่างเสร็จสิ้นแล้ว 69 ชิ้น ประกอบไปด้วย กระดูกซี่โครง 25 ชิ้น กระดูกหน้าอก 1 ชิ้น แขนและมือ (ครีบ) ข้างซ้าย 27 ชิ้น กระดูกสันหลัง 16 ชิ้น ส่วนการหาอายุกำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ ซึ่งได้มีการส่งตัวอย่างกระดูกไปวิเคราะห์หาอายุจากธาตุคาร์บอน-14 (C-14) โดยใช้วิธีการวัดมวลด้วยเครื่องเร่งอนุภาค (Accelerator Mass Spectrometer-AMS) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
รองานวิจัยยืนยันสายพันธุ์วาฬโบราณ
นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง กล่าวว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่าเป็น Balaenopteta edeni ขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ต้องรอการเปิดเฝือกในส่วนกะโหลก เพื่อค้นหากระดูกส่วนหู เพื่อยืนยันอีกครั้ง
จากพบโครงกระดูกวาฬบนแผ่นดิน ซึ่งห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 12 กิโลเมตรในครั้งนี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน
รวมทั้งยังช่วยศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของวาฬและสัตว์ทะเลในอดีต และได้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพจากการพบซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ร่วมกับวาฬ นอกจากนี้ผลที่ได้จากการสำรวจด้วยวิธีการเจาะสำรวจศึกษาชั้นตะกอนดินและเทียบสัมพันธ์ ยังช่วยในการแปลความหมายถึงสภาพแวดล้อมในอดีต การหาขอบเขตชายทะเลโบราณในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา และศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลในปัจจุบันและอนาคตที่มีผลจากปัจจัยทางธรณีวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกซึ่งจะได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ต่อไป
ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี
จับมือสถาบันศึกษาไขคำตอบม.ค.64
นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อร่วมกันไขข้อมูลจากโครงกระดูกวาฬในครั้งนี้ ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีจะได้จัดให้มีการนำเสนอผลงานทางวิชาการในปลายเดือนม.ค. 2564
ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการโครงกระดูกวาฬในเบื้องต้น ต้องทำการหารือร่วมกัน กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากโครงกระดูกมีขนาดใหญ่ สภาพกระดูกมีความเปราะบาง ผุพังง่าย ต้องเตรียมสถานที่สำหรับโครงกระดูกวาฬให้มีความเหมาะสมทั้งเรื่องอุณหภูมิ พื้นที่ในการจัดแสดงและอื่น ๆ โดยกรมทรัพยากรธรณี จะได้ทำการจัดเก็บไว้ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ระหว่างการจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมต่อไป
ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี