วันนี้ (18 ธ.ค.2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) รับทราบแนวทางการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิตภาคตะวันออก
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายอีอีซี เปิดเผยว่า บอร์ดอีอีซี รับทราบแนวทางการลงทุนในอีอีซี ปี 2564 ที่จะเห็นมูลค่าการลงทุนสูง 4 แสนล้านบาท จากปี 2563 ที่ 1.28 แสนล้านบาท แบ่งเป็นยอดขอส่งเสริมจากบีโอไอ 11 เดือน อยู่ที่เกือบ 70,000 ล้านบาท
เนื่องจากปีนี้มีปัญหาแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 5 แต่จะฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า เพราะเกิดจากแรงอั้นจากภาคเอกชน เช่น อุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ รวมถึงการเกษตรและแปรรูปอาหาร
ขณะนี้บีโอไอได้ประสานกระทรวงต่างประเทศ ทดลองผ่อนผันการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ เพื่อความสะดวกและเป็นแรงจูงใจให้กับนักลงทุนในการเข้ามาลงทุนในอีอีซี
นอกจากนี้บอร์ดอีอีซี ยังรับทราบแผนพัฒนาเกษตร เพื่อยกระดับรายได้ภาคเกษตรให้ใกล้เคียงภาคอุตสาหกรรม โดยในเดือน ม.ค.2564 จะลงนาม กับ บมจ.ปตท. เพื่อสร้างห้องเย็นเก็บผลไม้ และนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งออก
ขนาดห้องเย็นสามารถเก็บผลไม้ได้ 4,000 ตัน มูลค่าลงทุน 300-400 ล้านบาท ตามแผนโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก เพื่อเป็นหนี่งใน 5 คลัสเตอร์
และยังจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในอีอีซี ปี 2565-2570 โดยให้หน่วยงานทำแผนขอรับงบประมาณปี 2565 โดยเป้าหมายหลักยกระดับภาคเกษตรใช้เทคโนโลยีนำการผลิต สินค้าตรงตามความต้องการของตลาด เพิ่มรายได้ภาคเกษตร ใกล้เคียงภาคอุตสาหกรรม
บอร์ดอีอีซียังรับทราบการลงทุนพัฒนาระบบ 5 จี ในอีอีซี ซึ่งขณะนี้ กสทช.ได้วางโครงข่าย 5 จี ในอีอีซี ประมาณร้อยละ 40-50 ของพื้นที่อีอีซี ทั้งหมด
เพื่อนำโครงข่าย 5G ใช้ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EEC) โดยผลักดันให้เอกชน และหน่วยงานภาครัฐใช้เทคโนโลยี 5G ในโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เขตส่งเสริมอีอีซี ประมาณ 10,000 แห่ง โรงแรม 300 แห่ง หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มเอสเอ็มอี
และรองรับจุดติดตั้งศูนย์ข้อมูล Data Center ระบบคลาวด์รัฐ และคลาวด์ภาคเอกชน เฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยได้มาจัดทำข้อมูลกลางเพื่อธุรกิจในอนาคต