วันนี้ (25 ธ.ค.2563) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan อธิบายประเด็น COVID-19 กับการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตามวิวัฒนาการ ว่า
ไวรัสก่อโรค COVID-19 เริ่มต้นจากประเทศจีนจะมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ S (Serine) และสายพันธุ์ L (Leucine) และเมื่อระบาดมาสู่นอกประเทศจีน สายพันธุ์ L แพร่กระจายได้ดีกว่าและแบ่งลูกหลานออกเป็นสายพันธุ์ G (Glycine) และสายพันธุ์ V (Valine) โดยสายพันธุ์ G มีวิวัฒนาการได้มากกว่า แพร่กระจายโรคได้มากกว่า จึงพบส่วนใหญ่ในขณะนี้
สายพันธุ์ G ได้แพร่กระจายลูกหลาน เป็นสายพันธุ์ GH (Histidine) GR (Arginine) และ GV (Valine) ขณะนี้สายพันธุ์ GV มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งการระบาดในประเทศอินเดีย ส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์ GR แต่ก็มีสายพันธุ์ GH ได้แต่น้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม ไม่พบการศึกษาสายพันธุ์ในประเทศเมียนมา แต่เข้าใจว่าเมื่อระบาดที่ประเทศเมียนมาส่วนใหญ่จะเป็น GH เพราะตรวจพบสายพันธุ์ GH จากคนไทยที่ผ่านแดนมาจากเมียนมา เช่นเดียวกับสายพันธุ์ที่พบการแพร่ระบาดในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร
นอกจากนี้ มีการพูดถึงมากถึงสายพันธุ์ของอังกฤษและแอฟริกาใต้ คือการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ในบริเวณหนามแหลมหรือสไปรท์ (Spike) ที่ยื่นออกมาจากตัวไวรัส โดยเฉพาะส่วนที่จะมายึดติดกับเซลล์ของมนุษย์ ที่เรียกว่าตัวรับ หรือ ACE2 ในตำแหน่งกรดอะมิโนที่ 501 แต่เดิมแอสพาราจีน เปลี่ยนเป็นไทโรซีน (Y) และเข้าใจว่า จะทำให้การเกาะได้ดีขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงอีกตำแหน่งหนึ่งที่จะทำให้ระบบ enzyme ตัดส่วนสไปรท์ ให้ไวรัสเข้าเซลล์ได้ดีขึ้น รวมทั้งการศึกษาทางด้านระบาดวิทยา ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ ต้องรอการศึกษาในเชิงลึก
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรคและไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทาน ดังนั้นวัคซีนที่ใช้อยู่ในขณะนี้จึงยังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม