วันนี้ (25 ธ.ค.2563) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตรวจการคัดกรองผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในกลุ่มสัมผัสเสี่ยง ณ โรงงาน Big Star (บิ๊กสตาร์) ถนนพระรามที่ 2 ซอย 100 เขตบางขุนเทียน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 โดยมีนายพลเฉลิม ศรมณี ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน ร่วมลงพื้นที่ จากนั้นรองผู้ว่าฯ กทม. ตรวจเยี่ยมจุดสกัดและจุดคัดกรองชาวต่างชาติก่อนเข้าพื้นที่ กทม. ป้องกัน COVID-19 บริเวณหน้าปั๊ม ป.ต.ท. พระราม 2 ซอย 92 เขตบางขุนเทียน
สืบเนื่องจากกรณีโรงงานบิ๊กสตาร์ได้มีการพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 คนแรก เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2563 จากนั้นวันที่ 22 ธ.ค.2563 สำนักงานเขตบางขุนเทียนและสำนักอนามัยได้จัดทีมเจ้าหน้าที่เข้ามาล้างทำความสะอาดและฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อในโรงงาน และวันที่ 23 ธ.ค.2563 กทม.ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำการ SWAB กลุ่มเสี่ยงสูง จำนวน 200 คน ปรากฏว่าพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มอีก 3 คน เป็นแรงงานชาวเมียนมา 2 คน และแรงงานไทย 1 คน ซึ่งที่โรงงานบิ๊กสตาร์มีกลุ่มสัมผัสเสี่ยงรวมประมาณ 800 คน
ลุยตรวจแรงงานกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม
สำหรับวันนี้ กทม. โดยสำนักอนามัยได้จัดส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักอนามัย และศูนย์บริการสาธารณสุข 42 (ถนอม ทองสิมา) ร่วมกับสำนักงานเขตบางขุนเทียน มาดำเนินการตรวจคัดกรองกลุ่มสัมผัสเสี่ยงรองลงมา เพิ่มเติม 199 คน ซึ่งมีทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ด้วยวิธีการเก็บน้ำลายส่งตรวจที่แล็บของโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยขั้นตอนการดำเนินการ เริ่มด้วยการสอบประวัติผู้ตรวจ จากนั้นผู้ตรวจรับกระปุกเก็บน้ำลาย ซึ่งจะมีน้ำยา normalsaline 0.9% อยู่ภายใน ให้ผู้ตรวจอมน้ำลายไว้ในปาก 5 นาที แล้วบ้วนน้ำลายอย่างน้อย 2 ซี.ซี. ลงในกระปุก
สำหรับวิธีการตรวจจากน้ำลายนี้สามารถตรวจหาเชื้อ COVID-19 ได้เร็วกว่าการทำ SWAB ความน่าเชื่อถือของผลการตรวจสอบอยู่ที่ 90% ส่วนการทำ SWAB ผลเชื่อถือได้ 95% ทั้งนี้ หากตรวจน้ำลายแล้วพบมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 จะมีการทำ SWAB ผู้นั้นซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันผลการตรวจที่ชัดเจนต่อไป
ยืนยันใช้แนวทางรักษาแบบเดียวกัน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้สำนักงานเขตบางขุนเทียนกับศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 42 ได้ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองหาเชื้อ COVID-19 ที่โรงงานบิ๊กสตาร์ ซึ่งโรงงานแห่งนี้มีพนักงานกลุ่มเสี่ยงประมาณ 800 คน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ
สำหรับกลุ่มเสี่ยงซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาตินั้น รัฐบาล และ กทม.มีนโยบายในการดำเนินการเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะตรวจให้ทั้งหมด ไม่อยากให้แรงงานข้ามชาติกังวลเรื่องนี้ หากพบว่าติดเชื้อ COVID-19 จะใช้แนวทางการรักษาเดียวกับคนไทย เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สมุทรสาคร" พบติดเชื้อเพิ่ม 87 คน เร่งหากลุ่มเสี่ยงตัดวงจรระบาด
ศบค.มท.จัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้า เสริมทัพผู้ว่าฯ สกัด COVID-19
ไทม์ไลน์ "บิ๊กไบค์ลันตา" แพทย์ชี้ 3 จังหวัดใต้ติดเชื้อ 10 คน