ความเคลื่อนไหวแก้ กม.ทำแท้ง
ขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาหมวดว่าด้วยการทำแท้ง (มาตรา 301-305 ) ซึ่งบังคับใช้มากว่า 60 ปี คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... ว่าด้วยความผิดฐานทำให้แท้งลูก มีมติเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564 ให้แก้ไขกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับการทำแท้ง 2 มาตรา รายละเอียดดังนี้
- มาตรา 301 อนุญาตให้ทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ไม่มีความผิด หากอายุครรภ์เกินกว่านั้น ยังกำหนดให้ผู้หญิงต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา 305 แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ หากทารกคลอดออกมามีความเสี่ยงที่จะทุพพลภาพร้ายแรง และหญิงมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
ฝ่ายสนับสนุนทางเลือกผู้หญิงออกแถลงไม่เห็นด้วย
กลุ่มทำทาง เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และองค์กรภาคีเครือข่าย ได้แก่ แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิมานุษยะ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ และกองทุนสนับสนุนการทำแท้งปลอดภัยนานาชาติ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังที่ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาหมวดว่าด้วยการทำแท้งของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีแผนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 20 ม.ค. 2564 ไม่ได้นำเอาหลักสิทธิมนุษยชนสากลมาพิจารณาในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย
ทางองค์กรภาคีเครือข่ายฯ มองว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ยกเลิกความผิดทางอาญาต่อผู้หญิงที่ทำแท้ง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ที่เสนอว่า รัฐควรดำเนินการยกเลิกการลงโทษทางอาญาเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย
อายุครรภ์ที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายยังเป็นอีกข้อกังวลหนึ่ง โดยทางองค์กรภาคีเครือข่ายมองว่า การกำหนดอายุครรภ์ที่ 12 สัปดาห์นั้นน้อยเกินไป เพราะสามารถทำได้อย่างปลอดภัยจนถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวมีงานศึกษาวิจัยรองรับจำนวนมาก รวมถึงได้รับการยืนยันจากเครือข่ายแพทย์ RSA ของกรมอนามัย หน่วยงานที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในไทย
ถึงแม้ว่าจะมีการเขียนกฎหมายเปิดช่องให้หญิงอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ยังสามารถขอรับบริการยุติการตั้งครรภ์จากแพทย์ได้ แต่ก็ยังคงกำหนดเงื่อนไข และข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการของผู้หญิงอยู่ดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ไม่เคารพสิทธิในการตัดสินใจของผู้หญิงอย่างชัดเจน
เสนอยกเลิกกฎหมายลงโทษผู้หญิง
องค์กรภาคีเครือข่ายฯ เสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยกเลิกมาตรา 301 ซึ่งลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้ง เนื่องจาก ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วว่า มาตราดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 เรื่องชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และ มาตรา 28 เรื่องเสรีภาพในชีวิตร่างกาย อันสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ระบุว่าบุคคลมีสิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งปลอดภัย มีสิทธิที่จะมีความเป็นส่วนตัวและตัดสินได้ใจว่ามีบุตรกี่คน สิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และสิทธิในความเสมอภาคเท่าเทียม นอกจากนี้ ยังเสนอว่าให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาบนพื้นฐานหลักสิทธิมนุษยชนสากล ที่ระบุว่า สิทธิของบุคคลเริ่มต้นเมื่อแรกเกิด ตัวอ่อนในครรภ์ไม่ถือว่ามีสิทธิ
พร้อมกับเสนอว่า ฝ่ายนิติบัญญัติต้องยอมรับข้อมูลจากงานวิจัยที่ยืนยันแล้วว่าการยุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์มีความปลอดภัยสูง และสามารถทำได้ถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ภายใต้การดูแลของแพทย์ รวมถึง ร่างกฎหมายที่แก้ไขใหม่ต้องไม่สร้างเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจ และการเข้าถึงบริการของผู้หญิง เช่น จะต้องให้ผ่านความเห็นชอบ หรือผ่านกระบวนการพิจารณาโดยบุคคลอื่น ซึ่งจะทำให้อายุครรภ์เพิ่มมากขึ้น ในทางตรงข้ามรัฐมีหน้าที่ต้องขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ในการเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิง รวมถึงส่งเสริมการขจัดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงที่ทำแท้ง