ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หน้าหนาวระวัง "โรคอุจจาระร่วง" ปี 63 พบป่วยกว่า 8 แสนคน

สังคม
15 ม.ค. 64
13:48
632
Logo Thai PBS
หน้าหนาวระวัง "โรคอุจจาระร่วง" ปี 63 พบป่วยกว่า 8 แสนคน
กรมควบคุมโรคเตือนประชาชนช่วงหน้าหนาวระวังป่วย "โรคอุจจาระร่วง" เผยปี 2563 พบผู้ป่วยกว่า 8 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แนะให้ยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด"

วันนี้ (15 ม.ค.2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงหน้าหนาวอุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเชื้อไวรัสที่มากับอาหาร น้ำ หรือน้ำแข็ง จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน และการสัมผัสผู้ป่วยหรือสิ่งของที่มีเชื้ออยู่แล้วนำนิ้วเข้าปาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงได้

"โรคอุจจาระร่วง" เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ สารพิษและสารเคมี สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี โดยในช่วงที่อากาศหนาวอุณหภูมิต่ำ จะส่งผลให้เชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดี ติดต่อง่ายและแพร่กระจายรวดเร็ว เช่น ในน้ำดื่ม น้ำแข็ง

เชื้อก่อโรค "ไวรัสโรต้า-ไวรัสโนโร"

เชื้อไวรัสก่อโรคที่พบบ่อย คือ ไวรัสโรต้า และไวรัสโนโร ซึ่งมักก่อโรคในเด็กเล็ก ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากเชื้อไวรัสทำให้เยื่อบุลำไส้บางลง ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารลดลง ผู้ที่มีภาวะขาดน้ำจะมีอาการรุนแรง เช่น ริมฝีปากแห้ง ปัสสาวะลดลง ตาโหล เป็นต้น อาการดังกล่าวเป็นสัญญาณอันตรายในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็ก อาจทำให้ช็อก หมดสติ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ปกครองควรดูแลเรื่องอาหารของเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคอุจจาระร่วงเป็นการรักษาตามอาการ ป้องกันภาวะขาดน้ำ ให้ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียออกจากร่างกาย รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด หากมีอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”

สำหรับสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในปี 2563 พบผู้ป่วย 802,637 คน เสียชีวิต 4 คน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รองลงมาคือผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และอายุ 25-34 ปี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ จันทบุรี ปราจีนบุรี มหาสารคาม อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ช่วงเดือนที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือเดือน ม.ค.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง