ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ใช้คำแรง! ฉายหนังตัวอย่าง "วรรคทอง" ญัตติซักฟอก 10 รมต.

การเมือง
26 ม.ค. 64
11:39
1,102
Logo Thai PBS
ใช้คำแรง! ฉายหนังตัวอย่าง "วรรคทอง" ญัตติซักฟอก 10 รมต.
นอกจากสีสันในวันอภิปราย ถ้อยคำใน "ญัตติ" ถือเป็นหนังตัวอย่างที่ชี้ชวนให้ประชาชนติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เช่นกรณี "ร.อ.ธรรมนัส" ถูกใช้คำว่า "ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล กร่างเถื่อน" ชี้ชวนให้ตั้งคำถามว่าต้องทำผิดขนาดไหนถึงต้องใช้คำนี้

คนแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกอภิปรายประเด็นการบริหารงานที่ผิดพลาดในการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะประเด็นการนำเข้าวัคซีน เช่น วัคซีนจากบริษัทไซโนแวค ที่มีทุนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และการนำเข้าวัคซีนจากบริษัท แอสตราเซเนกา ซึ่งการบริหารจัดการถูกเชื่อมโยงกับสถาบันด้วย และปรากฎข้อความในญัตติ เช่น "แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน"

และยังมีกรณีที่ถูกกว่าหาว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำลายความสัพมันธ์อันดีระหว่างประชาชนและสถาบัน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการรับมือกับการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปลายปี 2563 ประโยคหนึ่งกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ "ทำลายความสัมพันธ์อันดี ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน"

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ถูกอภิปรายในประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดสัญญา ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าจากบริษัท แอสตราเซเนกา และบริษัท ไซโนแวค ซึ่งมีข้อความในญัตติอภิปรายช่วงหนึ่งกล่าวหาว่า "ปกปิด อำพราง การจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรค เพื่อเปิดช่องให้มีการทุจริต"

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งแต่การรับมือการระบาดโควิด-19 รอบแรก ที่ไม่สามารถบริหารจัดการหน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์การแพทย์ ได้อย่างเหมาะสม

และช่วงปลายปี 2563 ในการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายจุรินทร์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นตัวตั้งตัวตีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้ประเด็นนี้เป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกของวิกฤต แทนการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปธรรม ตรงกับข้อความในญัตติช่วงหนึ่งระบุว่า

ลอยตัวหนีปัญหา เลือกปฏิบัติบัติ พูดอย่างทำอย่าง ไม่ยึดถือหลักธรรมาภิบาล

ผิดแค่ไหนถึงใช้คำว่า "ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล กร่างเถื่อน"

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ปมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติ ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด และมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายค้านจะมีข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับเครือข่ายบุคคลและการเข้าสู่ตำแหน่งของบุคคลใกล้ชิด รวมถึงการเข้าสู่ตำแหน่งของภรรยา ที่ถูกเสนอชื่อให้ช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย

ประโยคหนึ่งระบุว่า "ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล กร่างเถื่อน และสร้างอิทธิพลให้กับบริวารและพวกพ้อง" และข้อความว่า "เสนอแต่งตั้งคู่สมรสที่อยู่กินฉันสามีภรรยาเป็นข้าราชการเมือง โดยไม่คำนึงถึงวุฒิภาวะและความเหมาะสม"

ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล กร่างเถื่อน และสร้างอิทธิพลให้กับบริวารและพวกพ้อง

นายศักดิ์ สยามชิดชอบ รมว.คมนาคม ถูกอภิปรายปมบริหารโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ต่อสัญญาให้กับเอกชน ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย และยังมีโครงการขนาดใหญ่หลายแห่งที่เชื่อมโยงกับการจัดการของกระทรวงคมนาคม โดยมีวรรคทองคือ "เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาด เพื่อให้มีสิทธิดำเนินงานในกิจการของรัฐ สมคบกันเพื่อปิดบังการทุจริต"

 

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ คาดว่าจะถูกอภิปรายเกี่ยวกับการรับมือผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา และการแก้ไขกรณีนักเรียนถูกล่วงละเมิดในโรงเรียน

นอกจากนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีจัดการศึกษาในช่วงระบาดโควิด-19 โดยการสั่งปิดโรงเรียน ซึ่งถูกมองว่าส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางการเรียนของเยาวชนโดยไม่จำเป็น

"ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้สึกนึก ไร้ความรับผิดชอบ ขาดวุฒิภาวะและความเป็นผู้นำที่ดี"

อะไรคือ "ทุจริตอย่างเป็นระบบและแยบยล"

เช่นเดียวกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ถูกอภิปรายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งมีประเด็นซ้อนทับคือการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเลยให้เกิดการลักลอบเข้มเมืองผิดกฎหมาย "ไม่กำกับควบคุมผู้ใช้แรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ จนเกิดแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก สร้างผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19"

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย มีชื่อถูกอภิปรายในรอบนี้ เนื่องจากมีคดีที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กรณีไม่เซ็นอนุมัติงบฯ จัดซื้อรถอเนกประสงค์สมัยเป็น นายก อบจ.สงขลา ซึ่งเป็นคดีทุจริต และเสี่ยงต่อสถานะทางการเมืองของ นายนิพนธ์ แม้คดีจะยังไม่สิ้นสุด จึงปรากฎข้อความในญัตติคือ "ใช้อำนานในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์"

 

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจิดา รมว.มหาดไทย คาดว่าน่าจะถูกอภิปรายเกี่ยวกับการใช้ฝ่ายปกครองกำกับดูแลการรับมือโควิด-19 ซึ่งพบการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ รวมถึงการบริหารงบฯ ที่พบช่องโหว่ และฝ่ายค้านเลือกใช้คำว่า "แยบยล" ในประโยค "ใช้กลไกทางกฎหมาย เพื่อวางแผนในการทุจริตอย่างเป็นระบบและแยบยล"

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ถูกอภิปรายตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับทรัพย์สิน ซึ่งตามประวัติเป็นข้าราชการในกองทัพก่อนเข้าสู่การเมือง แต่กลับมีทรัพย์สินสูงกว่าเงินเดือนข้าราชการ และเป็นไปได้ที่ฝ่ายค้านจะเปิดข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับ พล.อ.ประวิตร จึงใช้คำว่า "ผู้มีอิทธิพล" ข้อความ "ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ใช้งบประมาณของรัฐ เพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับตนเอง"

ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ใช้งบประมาณของรัฐ เพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับตนเอง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีขึ้นวันที่ 16-19 ก.พ. นี้ โดยพรรคฝ่ายค้าน อาทิ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เริ่มเปิดประเด็นผ่านการแถลงข่าวและการเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับความผิดพลาดหรือข้อมูลที่อาจนำไปสู่การทุจริจอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ "วรรคทอง" ที่เขียนในญัตติที่จะเชื่อมโยงไปยังรายละเอียดในการอภิปรายในเดือน ก.พ.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง