วันนี้ (3 ก.พ.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากแพกุ้ง จ.สมุทรสาคร ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในการบริโภคอาหารทะเล
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เก็บตัวอย่างอาหารและบรรจุภัณฑ์ เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมเชื้อ COVID-19 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทรายแดง ปลาซาบะ ปลาทู ปลาอินทรีย์ ปลาใบขนุน ปลาน้ำดอกไม้ หอย หมึก กุ้ง เป็นต้น สำหรับบรรจุภัณฑ์ เช่น กระป๋อง กล่องกระดาษ ตั้งแต่เดือน พ.ย.2563 - ม.ค.2564 จำนวน 117 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนทุกตัวอย่าง
โดยเดือน พ.ย. - ธ.ค.2563 สุ่มตรวจอาหารทะเลที่จำหน่ายในตลาดสดเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 80 ตัวอย่าง, วันที่ 7 ม.ค.2564 ตรวจอาหารทะเลที่ตลาดปลาสหกรณ์ประมงแม่กลอง จ.สมุทรสาคร จำนวน 26 ตัวอย่าง, วันที่ 11 ม.ค.ตรวจสินค้าสัตว์น้ำในเรือด่านประมง จ.ระยอง จำนวน 3 ตัวอย่าง และล่าสุดวันที่ 21 ม.ค. ตรวจอาหารทะเลและบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ กล่องกระดาษ กระป๋อง จำนวน 8 ตัวอย่าง
ภาพ : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า จากการสุ่มตรวจอาหารทะเลที่จำหน่ายในประเทศ ไม่พบการปนเปื้อนเชื้อ COVID-19 ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า สามารถรับประทานทะเลสด และอาหารทะเลแช่แข็งได้ตามปกติและมีความปลอดภัย
พร้อมแนะนำปรุงให้สุก เพราะความร้อนสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ด้วยความร้อน 70 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป และถ้าความร้อนสูงขึ้นก็จะใช้ระยะเวลาน้อยลง หากเป็นอาหารแช่แข็ง ควรล้างทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ สวมถุงมือเวลาประกอบอาหาร และที่สำคัญต้องล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสอาหารทะเล