วันนี้ (3 ก.พ.2564) นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมด้วยนายโบแยน สแลต ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanup จากเนเธอร์แลนด์ผู้ที่คิดค้นทุ่นดักขยะทะเลใช้กำจัดแพขยะในมหาสมุทร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการนำเครื่อง Interceptor เพื่อวิจัยขยะพลาสติกในแม่น้ำ และการดักเก็บขยะพลาสติกในแม่น้ำของไทยก่อนออกสู่ทะเล โดยจะติดตั้งบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สมุทรปราการ 3 จุด จุดแรกนำร่องติดตั้งบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวการแก้ปัญหาขยะทะเล
นางสุมนา กล่าวว่า นวัตกรรม Interceptor เพื่อจัดการขยะในแม่น้ำก่อนลงสู่ทะเล ได้ผ่านการคิดค้นและทดสอบประสิทธิภาพมาแล้ว โดยจะนำมา ทดลองใช้ในไทยในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาก่อนลงสู่ทะเล เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณขยะในแม่น้ำมากที่สุด
ปี 2560 มีปริมาณขยะสูงถึง 2,172 ตัน หรือกว่า 173 ล้านชิ้น แต่จากมาตรการต่างๆของภาครัฐ เพื่อลดปริมาณขยะในแม่น้ำ และทะเลส่งให้แม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณขยะลดลงในปี 2562 เหลือเพียง 702 ตัน หรือกว่า 42 ล้านชิ้น
ใช้พลังงานแสงอาทิตย์-เก็บขยะ 3-4 ตัน
นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมก่อนไหลลงสู่ทะเล และช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดต่อสัตว์ทะเลหายาก ทรัพยากรทางทะเล และระบบนิเวศชายฝั่งด้วย เบื้องต้นอยู่ระหว่างศึกษาความลึกของแม่น้ำและกระแสน้ำที่เหมาะสมในการติดตั้งเครื่องดังกล่าว
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
สำหรับเครื่อง Interceptor สามารถดักเก็บขยะอัตโนมัติ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สามารถจัดเก็บขยะได้ 3–4 ตันต่อวันขึ้นอยู่กับปริมาณขยะในพื้นที่ หรือเฉลี่ยลดปริมาณขยะในแม่น้ำที่จะไหลลงสู่ทะเลได้ถึงร้อยละ 60 โดยขยะที่เก็บรวบรวมได้จะถูกนำมาคัดแยก และกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy การเลือกไทยเป็นพื้นที่ดำเนินการได้พิจารณาจากความเหมาะสมและความพร้อม ทั้งด้านสถานที่ บุคลากร และนักวิชาการที่จะต่อยอดการดำเนินงานต่อได้ในอนาคต
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
วางทุ่นกักขยะปากแม่น้ำ-คลองสาขา สกัดขยะไหลลงทะเล
ส่งมอบ "ทุ่นกักขยะลอยน้ำ" เตรียมใช้จริง 13 จังหวัดนำร่อง