วันนี้ (7 ก.พ.2564) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยกรณีการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ของประเทศไทยว่า โคแวกซ์ ฟาซิลีตี้ มีเป้าหมายเพื่อแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 ให้กับประเทศยากจน โดยประเทศในอาเซียนที่ได้รับวัคซีนฟรี ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
นพ.นคร เปรมศรี
ส่วนประเทศไทย บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนฟรี หากจะเข้าร่วมโครงการต้องนำเงินไปร่วมลงขันในการจัดหาวัคซีน COVID-19 ซึ่งไทยมีแผนร่วมจัดหาวัคซีน COVID-19 กับโคแวกซ์ตั้งแต่ต้น และได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมตั้งแต่ช่วงต้นของโครงการฯ โดยจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านวิชาการ กฎหมาย การเงิน เพื่อพิจารณาเงื่อนไขการทำข้อตกลงกับโคแวกซ์
คิดค่าธรรมเนียมเพิ่มจากราคาวัคซีน
การทำข้อตกลงจองวัคซีน COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นการทำข้อตกลงผ่านโคแวกซ์ หรือการทำข้อตกลงโดยตรงกับผู้ผลิต จำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลและบริบทหลายๆ ด้าน เนื่องจากการทำข้อตกลงจองวัคซีนในขณะนั้น ทุกบริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีน ยังไม่ทราบว่าวัคซีนชนิดใดจะประสบความสำเร็จและยังไม่มีข้อมูล ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่มากพอ เสียเงินค่าจองไปแล้ว ก็อาจไม่ได้รับวัคซีน หากการพัฒนาล้มเหลว
เมื่อพิจารณาเงื่อนไขการจองวัคซีนผ่านโคแวกซ์ พบว่าการจองจะต้องมีค่าธรรมเนียม ค่าดำเนินการ โดยคิดเพิ่มจากราคาวัคซีน โดยการจองแบบเลือกผู้ผลิตไม่ได้ มีค่าธรรมเนียม 1.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส, การจองแบบเลือกผู้ผลิตได้ คิดค่าจองเพิ่ม 3.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส
สัญญาจองซื้อวัคซีนไม่มีอิสระแท้จริง
แม้ว่าจะเลือกทำสัญญาจองซื้อแบบเลือกผู้ผลิตได้ แต่ไม่มีอิสระในการเลือกที่แท้จริง โดยโคแวกซ์จะเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้ 2 รอบ ในรอบแรก จะเสนอ รายชื่อผู้ผลิตที่โคแวกซ์มีข้อตกลงแล้ว มาให้ผู้ซื้อเลือก หากไม่เลือกก็ต้องรอประกาศตัวเลือกในรอบต่อไป ทำให้ได้วัคซีนช้าลง
และหากเลือกผู้ผลิตที่มีชื่อในรายการ โคแวกซ์จะนำเงินที่ผู้ซื้อจ่ายไปจองวัคซีนกับผู้ผลิตก่อน แล้วผู้ซื้อจึงจะมีสิทธิ์เลือกในรอบที่ 2 ว่าจะทำสัญญากับผู้ผลิตรายนั้นหรือไม่ ซึ่งถ้าตัดสินใจไม่ทำสัญญาก็จะเสียค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่จ่ายไปแล้วทั้งหมด โดยไม่ได้เงินคืนแม้ว่าการเลิกสัญญาจะเกิดจากการพัฒนาวัคซีนไม่สำเร็จ
"โคแวกซ์" กำหนดขั้นต่ำจัดซื้อวัคซีน
ทั้งนี้ การซื้อวัคซีนผ่านโคแวกซ์ ยังกำหนดให้ซื้อขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนประชากร หากต้องการวัคซีนรวดเร็ว ผู้ซื้อต้องยอมรับเงื่อนไข และความรับผิดชอบใดๆ ตามที่ผู้ผลิตเสนออีกด้วย
การทำความตกลงซื้อวัคซีน COVID-19 จากผู้ผลิตโดยตรง มีความยืดหยุ่นมากกว่าสามารถกำหนดจำนวนวัคซีนที่จะซื้อได้ สามารถต่อรองราคาหากซื้อเป็น จำนวนมากราคาก็ถูกลง และยังสามารถต่อรองเงื่อนไขขอบเขตความรับผิดชอบได้ตามสมควร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ชี้แจงจัดหาวัคซีนครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
ศูนย์เด็กเล็กฯ ปรับตัว หลังพิษ COVID-19 ถูกสั่งปิดยาว