พระครูธีรสุตพจน์ เจ้าอาวาสวัดผาลาด บนดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ร่วมกับภาคประชาชนในนามกลุ่ม Go with Goodwill เชียงใหม่ใจอาสา เดินสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบลำห้วยสาขาของลำห้วยผาลาด ที่ปัจจุบันมี สภาพแห้งขอด แม้แต่จุดที่เรียกว่า "วิหกสถาน" หรือ "บ้านนก" ซึ่งอดีตเคยเป็นมีน้ำไหลอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่รวมตัวของนกป่า แต่ปัจจุบันไม่มีน้ำเหลืออยู่
พระครูธีรสุตพจน์ เจ้าอาวาสวัดผาลาดเล่าว่าก่อนหน้านี้เมื่อประมาณปี พ.ศ.2557 ทางวัดกับคณะศรัทธาได้ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำถวายในหลวง ร.9 ทำให้ลำห้วยกลับมามีน้ำไหล แต่ภายหลังมีดินสไลด์ลงมาทับถมลำห้วย และฝายที่สร้างขึ้นผุผัง ส่งผลให้ลำห้วยแห้งขอด จึงมีแนวคิดที่จะฟื้นฟูลำธารให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำเป็นจุดๆ เพื่อกักเก็บน้ำ หรือ ธนาคารน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งในแนวทางในการป้องกันไฟป่า นอกเหนือจากการสร้างแนวกันไฟป่า
"เราป้องกันไฟป่า โดยการทำให้ป่าไม่มีใบไม้ที่ไฟจะไหม้ได้ เป็นแนวทางหนึ่งที่เราทำกันทุกปี แต่ถ้าเราทำป่าให้อุดมสมบูรณ์ ความชุ่มชื้นจากผืนป่า น่าจะป้องกันไฟป่าอย่างยั่งยืน ปีที่ผ่านมา เราทำเกี่ยวกับฝาย ทำความสะอาดมาหลายเดือน พบว่าปัจจุบันมีปัญหาเรื่องน้ำค่อนข้างน้อย ถ้าเราทำได้ตลอดทั้งสาย น่าจะทำให้ความชุ่มชื้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง"
นายวงศ์ทวี ทวีประศาสน์ ตัวแทนกลุ่ม Go with Goodwill อดีตอาจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ระบุว่า ปัญหาไฟป่าไม่ได้เพียงเผาทำลายต้นไม้ หรือ ทำให้ธรรมชาติหายไป แต่ยังทำให้เกิดควันพิษ ที่เราต้องสูดดม ส่งผลต่อสุขภาพ เป็นปัญหามลพิษไปทั่วภาคเหนือ
สำหรับฝายชะลอน้ำที่จะสร้างขึ้น ไม่ได้ใช้วัสดุจากนอกพื้นที่ เป็นเพียงการเรียงก้อนหินเป็นแนวเพื่อชะลอน้ำ น้ำในลำห้วยยังคงไหลลอดก้อนหิน ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนธรรมชาติ และใช้เพียงแรงงานจิตอาสาไม่กี่ชีวิตทยอยทำทีละนิด โดยจิตอาสาที่จะเข้าร่วมกิจกรรม ต่างมาด้วยใจ ด้วยจิตสำนึกการห่วงใยธรรมชาติใกล้ตัว
เจ้าอาวาสวัดผาลาด และ กลุ่ม Go with Goodwill ยังเล่าให้ฟังอีกว่าในช่วงวิกฤตโควิด19 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีการประกาศปิดการท่องเที่ยวในผืนป่าดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ผืนป่าไร้ผู้คน และ นักท่องเที่ยวธรรมชาติก็ได้พักฟื้น สัตว์ป่ากลับมามีชีวิตชีวา แม้แต่ผืนป่าบริเวณใกล้วัด ก็พบเห็น หมูป่า กวาง และ สัตว์ป่าอีกหลากหลายชนิดออกมาหากินให้เห็น ซึ่งสะท้อนว่าธรรมชาติสามารถฟื้นตัวได้
จึงคาดหวังว่า ธนาคารน้ำ จะส่งผลให้ลำห้วยสายนี้กลับมามีน้ำในไม่ช้า ช่วยฟื้นชีวิตให้แก่พืชพันธุ์ และสัตว์ป่า รวมทั้งเพิ่มน้ำในอ่างเก็บน้ำกาแลเชิงดอยสุเทพ และหากความพยายามนี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะขยายพื้นที่เป้าหมายให้ครอบคลุมทุกลำห้วยบนดอยสุเทพต่อไป