ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการอัด กปน. แก้ปัญหาน้ำกร่อย อย่าผลักภาระให้ ปชช.

สังคม
13 ก.พ. 64
14:52
1,493
Logo Thai PBS
นักวิชาการอัด กปน. แก้ปัญหาน้ำกร่อย อย่าผลักภาระให้ ปชช.
นักวิชาการด้านทรัพยากรแหล่งน้ำ จี้ กปน.แก้ปัญหาน้ำกร่อยอย่างเป็นรูปธรรม หลังประชาชนต้องแบกรับภาระแก้ปัญหาด้วยตัวเองทุกปี

น้ำประปาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มีรสชาติเปลี่ยนไป เป็นเพราะขาดแคลนน้ำจืด ไม่มีปริมาณน้ำมากพอที่จะผลักไล่น้ำเค็มที่รุกคืบเข้ามายังสถานีสูบน้ำดิบสำแล จังหวัดปทุมธานีในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงได้ เพราะปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนลดน้อยลงจากปัญหาภัยแล้ง

ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ผู้ใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกของกรุงเทพมหนาครปีนี้ ได้ลิ้มรสน้ำประปากร่อยมานานกว่า 2 สัปดาห์ หลายครอบครัวลงทุนซื้อเครื่องกรองน้ำใหม่ โดยเป็นเครื่องกรองน้ำระบบ RO หรือ รีเวอร์สออสโมซิส มีราคาตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นบาท เพื่อให้ได้ดื่มน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัย ตามคำแนะนำของแพทย์

บางครอบครัวเลือกวิธีซื้อน้ำดื่มแบบขวด เพราะเครื่องกรองน้ำธรรมดาที่มีอยู่ไม่สามารถกรองกลิ่นและความเค็มของน้ำได้ 

การแสวงหาน้ำดื่มที่ปลอดภัย จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพิการ โรคไต และโรคหัวใจ เพราะหากได้รับปริมาณโซเดียมสูงจะมีผลกระทบกับโรคที่เป็นอยู่ 

 

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการด้านทรัพยากรแหล่งน้ำ ที่จับตามองปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งคำถามไปยังการประปานครหลวงว่า ทำไมถึงไม่มีแผนรับมือความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องนี้? โดยระบุว่าปัญหาน้ำประปากร่อย เกิดจาการบริหารจัดการน้ำของการประปานครหลวงที่ยังไม่ดีพอ เป็นการผลักภาระมาให้ผู้ใช้น้ำและกรมชลประทาน ที่ทำหน้าที่จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร

กปน. ผันน้ำแม่กลองมาทิ้ง ไม่คุ้มค่า?

ผศ.สิตางศุ์ เผยวิธีการแก้ปัญหาน้ำดิบของการประปานครหลวง การประปานครหลวงนำน้ำดิบจากเขื่อนแม่กลอง มาช่วยผันน้ำไปลงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเจือจางความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา หวังให้น้ำดิบบริเวณสำแลไม่เค็ม ขณะที่อีกด้านผันน้ำจากแม่กลอง โดยผ่านมายังคลองมหาสวัสดิ์และตัดมาลงคลองบางกอกน้อย แต่เป็นจุดท้ายน้ำของจังหวัดปทุมธานี การผันน้ำมาลงคลองบางกอกน้อย จึงไม่มีประโยชน์เหมือนปล่อยมาทิ้งอย่างเดียว

 แม่กลองเขากังวลมากเพราะปล่อยน้ำมาทิ้ง เขารู้สึกว่าทำไม กปน.ไม่มีแผนล่วงหน้า เขาเองก็มีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำน้อย เขาก็ไม่อยากจะดันมาช่วย มันเป็นปัญหาของ กปน.

กปน.ไม่มีแหล่งเก็บน้ำดิบ-ถังเก็บน้ำใส ใช้ได้ 3 ชั่วโมง?

ผศ.สิตางศุ์ กล่าวว่าที่ผ่านมาการประปานครหลวง ควรมีแหล่งเก็บน้ำเป็นของตัวเอง ทุกปีลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำที่ท่วมเป็นน้ำส่วนเกิน ถ้าการประปานครหลวงมีแหล่งกักเก็บน้ำ ก็จะสามารถนำน้ำนั้นมาเจือจางความเค็มได้ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งขณะนี้การประปานครหลวงก็ยังไม่มีที่เก็บน้ำดิบ 

ทุกวันนี้โรงผลิตน้ำประปาบางเขน ผลิตน้ำวันละ 4 ล้านลูกบาศ์กเมตร เป็นการผลิตไปจ่ายไป แบบวันต่อวัน ไม่มีน้ำสำรองไว้ใช้ในระยะยาว

กปน.มีถังเก็บน้ำใสที่บางเขน สำหรับสำรองน้ำได้เพียง 3 ชั่วโมง นั้นหมายความว่า ถ้าเกิดไฟไหม้ ไฟดับ ก่อวินาศภัย โรงผลิตน้ำบางเขนทำงานไม่ได้ เราจะมีน้ำเพียงพอแค่ 3 ชั่วโมงเอง ทำไมเราถึงไม่เพิ่มถังเก็บน้ำใส หรือเพิ่มกำลังการผลิต แผนก็มีอยู่แล้วแต่ก็ไม่ได้ขยับ

ถ้าการประปานครหลวงเพิ่มกำลังผลิตในช่วงน้ำขึ้น-น้ำลง แล้วเก็บไว้ในถังเก็บน้ำใส เมื่อถึงช่วงที่มีปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงก็สามารถส่งน้ำดีเข้าท่อให้ประชาชนได้

กปน.ไม่กล้าลงทุนแก้น้ำเค็ม-หวั่นกระทบโบนัส?

ในขณะที่เกิดวิกฤตอย่างที่ผ่านมา การประปานครหลวงสามารถเพิ่มกำลังผลิตน้ำประปาพื้นที่ฝั่งตะวันตกคือ โรงผลิตน้ำประปามหาสวัสดิ์ได้ แต่การประปานครหลวงไม่ทำเช่นนั้น เลือกใช้วิธีนำน้ำใส่รถมาช่วยในพื้นที่ฝั่งตะวันออก

ผศ.สิตางศุ์ ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องใส่รถน้ำ เพราะการประปามีท่ออยู่แล้ว 

ท่อส่งน้ำของการประปานครหลวง เป็นท่อส่งน้ำดีจากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตกเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ออกแบบส่งน้ำไป-มาได้ ดังนั้นถ้าฝั่งมหาสวัสดิ์มีปัญหา บางเขนสามารถส่งน้ำไปช่วยได้ แต่ถ้าฝั่งตะวันออกประสบปัญหาน้ำเค็ม ฝั่งมหาสวัสดิ์ส่งน้ำผ่านท่อกลับมาไม่ได้ ทำได้เพียงนำน้ำใส่รถน้ำมาให้

ผศ.สิตางศุ์ ย้ำว่าทุกโครงการสามารถแก้ไขได้ แต่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ต้องกู้เงินเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา และไม่ได้ใช้เวลาเพียง 1-2 ปี เพราะต้องวางท่อ สร้างอุโมงค์ผันน้ำ ซึ่งการกู้เงินจะทำให้รายได้ของการประปานครหลวงลดลง เมื่อรายได้ลดลงก็จะไปมีผลต่อโบนัส จุดนี้เป็นข้อสังเกตว่า เพราะเรื่องนี้หรือเปล่า จึงทำให้การประปานครหลวงยังไม่ขยับเรื่องนี้

อาจจะต้องกู้เงิน เพราะต้องใช้งบประมาณมาก แต่พอเป็นเงินกู้ก็จะมีดอกเบี้ย เป็นภาระของ กปน.ต้องจ่าย กลายเป็นภาระค่าใช้จ่าย

น้ำเค็มไม่ใช่เรื่องเล็ก จี้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติสั่งการ

ผศ.สิตางศุ์ กล่าวว่าประเทศไทยมีกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ระดมทุกหน่วยงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ เพื่อมาบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นเลขานุการ แต่กลับมีการหารือถึงประเด็นน้ำกร่อยน้อยมาก และยังไม่มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

ขณะเดียวกันยังพบว่าปัญหาน้ำเค็มจากน้ำทะเลหนุนสูง ยังไม่ได้ถูกสั่งการให้แก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพราะทุกคนยังมีความเชื่อว่าปัญหาต้องคลี่คลายได้ด้วยเงื่อนเวลา หากฝนตกหรือมีน้ำดิบเพียงพอ ปัญหานี้หากยังไม่เริ่มนับหนึ่งเพื่อแก้ไข เชื่อว่าประชาชนจะยังต้องรับภาระต่อไปซ้ำ ๆ เช่นนี้ทุกปี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง