วันนี้ (21 ก.พ.2564) นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการที่คณะทำงานแก้ไขปัญหากรณีบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งขึ้น ลงพื้นที่ทำงานหาข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่ช่วง 2-3 วันนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสอบพื้นที่จากทางอากาศและได้บันทึกภาพไว้ และเมื่อนำมาประเมินเบื้องต้นพบว่า มีการบุกรุกป่าบริเวณ บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพิ่มมากขึ้น ทั้งที่มีการลงนามบันทึกข้อตกลง เพื่อแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวกันแล้ว
โดยนายจงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่พร้อมกับตัวแทนชาวบ้าน เข้าไปดูในพื้นที่จริง ด้วยกันโดยขึ้นเฮลิคอปเตอร์ และพบว่า มีพื้นที่ป่าถูกบุกรุกป่าด้วยการแผ้วถาง และเผาป่า กว่า 100 ไร่
นายยุทธพลกล่าวว่า ยังได้รับรายงานเมื่อช่วงบ่ายของวันเดียวกันนี้ เพิ่มเติมด้วยว่า พบว่า มีการบุกรุกป่าเพิ่มเติมอยู่อีกและเห็นที่ชัดที่สุดคือ ตามซอกเขา หลายจุด จุดละประมาณ 15 ไร่เศษ แล้วนี่หรือคือการถอยคนละก้าว ตามที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งคณะทำงานได้รายงานให้ รมว.ทส.ทราบแล้ว
ถ้าคนที่พยายามยังบุกรุกต่อไปไม่ยอมหยุดแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ เชื่อว่า อาจจะต้องเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งเราไม่ต้องการให้ถึงวันนั้น ฉะนั้นต้องรีบหาทางสรุปเรื่องนี้ให้ได้
ขอฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า จะต้องถอยคนละก้าว ตามที่ได้ตกลงกันไว้ เพราะหากยังไม่ถอยคนละก้าว เราก็จะต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดขึ้น
ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า อย่างไรก็ตามมีกลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพชรบุรี นำโดยน.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ อดีตส.ว.เพชรบุรี ได้เข้าพบตน เสนอข้อคิดเห็นว่า พื้นที่ป่าแก่งกระจานไม่ใช่พื้นที่ของคนเมืองเพชร เพียงอย่างเดียว แต่เป็นทรัพยากรธรรมชาติของโลก และกำลังจะก้าวสู่มรดกโลก
ทางกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพชรบุรี ได้รวมตัวกันเปิดเวทีเสวนา ในวันที่ 22 ก.พ.ที่อาคารคุณแม่บุญรวม สวท.เพชรบุรี เรื่องเซฟแก่งกระจาน ปากของโลก เพื่อคนทั้งโลก ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป
เพื่อระดมสมองของชาวเพชรบุรี แล้วสรุปยื่นต่อ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในวันอังคารที่ 23 ก.พ.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล
ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของประชาชนทุกพื้นที่ของประเทศไทย การจะสืบสานประเพณีวัฒนธรรมใดก็แล้วแต่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพกาลเวลา และสภาพทรัพยากรของประเทศไทยที่เรามีอยู่จำกัดในทุกวันนี้ และต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ
การที่หลายฝ่ายลงนามในบันทึกความเข้าใจแล้ว แสดงให้เห็นว่า เราถอยกันคนละก้าว
ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ถอนกำลังออกมา เพื่อมาเปิดโต๊ะเจรจากัน เจ้าหน้าที่ก็ถอยออกมาหมดแล้ว และยังได้ขอชาวบ้านด้วยว่า เราต้องถอยกันคนละก้าว เพื่อมาพูดคุยกัน
แต่เมื่อผ่านไปได้เพียง 2-3 วัน เมื่อเจ้าหน้าที่ถอยลงมาแล้ว แต่ชาวบ้านยังไม่กลับลงมา ยังมีภาพจากการสำรวจของคณะทำงานให้เห็นอีกว่า ทรัพยากรอันมีค่าของประเทศไทยถูกเผามากเพิ่มขึ้นอีก ไม่นับมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น PM2.5 จากการเผาป่านับร้อยไร่ จะออกมาอีกปริมาณเท่าใด
ขอความเห็นใจจากพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวว่า เราเข้าใจในสิ่งที่ทุกคนต้องดำรงชีพทำมาหากิน ซึ่งคณะทำงานแก้ไขปัญหา ที่ไปจากกระทรวงฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้ทำฐานข้อมูล มีความคืบหน้าไปอย่างมาก และได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นอีกไม่นานเราจะได้ฐานข้อมูลที่ชัดเจน และจะได้ดำเนินการเยียวยาให้ประชาชนกลุ่มที่เหลือเพียง 10 % หรือ 100 กว่าคนเท่านั้น ที่เรายืนยันว่าจะต้อง ดำเนินการให้เสร็จภายในปีนี้
“ผมเห็นคลิปจากที่คณะทำงานลงพื้นที่ส่งมาแล้ว รู้สึกสลดใจมาก เศร้าใจและเสียใจมากที่เห็นพื้นที่ป่า พื้นที่ที่คนไทยอนุรักษ์หวงแหน และต้องการเห็นว่าเป็นมรดกโลก ถึงแม้ว่า พี่น้องกลุ่มหนึ่งใช้เหตุผลว่า เป็นพื้นที่ที่อยู่กันมานาน แต่พื้นที่ทุกตารางนิ้วของประเทศไทย เป็นทรัพย์สมบัติของคนไทย โดยเฉพาะป่าแก่งกระจานที่อีกไม่นานเราจะผลักดันให้ขึ้นเป็นมรดกโลก” นายวราวุธกล่าว
พื้นที่ตรงนี้กำลังจะกลายเป็นมรดกของคนทั้งโลก คนในพื้นที่ต้องตระหนักว่า ทรัพยากรป่าที่กำลังอยู่อาศัยและเผาอยู่นั้น เป็นการเผามรดกของมวลมนุษยชาติของโลก
อย่างไรก็ตามทางรัฐบาล จะเร่งหาวิธีเยียวยาให้ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาการแก้ปัญหาล่าช้าก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามา ก็ต้องขอโทษในนามหน่วยงานของรัฐ แต่ขอให้กลับลงมาพูดคุยกัน แล้วขอให้หยุดการเผาป่า หยุดรุกที่ป่า แล้วจะหาวิธีเยียวยาให้ทุกคนมีพื้นที่ทำมาหากิน เหมือนกับพี่น้องประชาชนกว่า 1,000 ชีวิต ที่เราได้เยียวยาไปแล้ว ส่วนใดที่เสื่อมโทรมก็จะไปแก้ไขให้ดีขึ้น แต่ขอให้หยุดการกระทำเช่นนี้ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะไม่เหลือป่าไว้ให้ลูกหลาน