การจัดตั้งคณะทำงานร่วม โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคประชาสังคม เป็นข้อสรุปเบื้องต้น ในการเจรจาหาแนวทางแก้ปัญหาที่ทำกิน ของชาวบ้านบางกลอยล่าง ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
ซึ่งผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่มารับฟังข้อเสนอจากชาวบ้านเมื่อช่วงสายวันนี้
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ขอให้ชาวบ้านย้ายมาอาศัยทำกินในที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ ที่บ้านบางกลอยล่าง ตั้งแต่ปี 2539
ชาวบ้านเล่าว่า หลังจากนั้นประสบปัญหามาโดยตลอด
1.ดินไม่อุดมสมบูรณ์ ที่ทำกินบางส่วนเต็มไปด้วยก้อนหิน จึงทำเกษตรได้ไม่เต็มที่
2.น้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร แม้ก่อนหน้านี้ภาครัฐจะสนับสนุนระบบกักเก็บน้ำและสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ แต่ก็เกิดปัญหาพลังงานไม่เพียงพอ บางครั้งปั๊มน้ำเสื่อมสภาพ
และ 3.ชาวบ้านบางส่วนที่อพยพลงมาทีหลัง หรือครอบครัวขยาย ก็ยังไม่ได้รับจัดสรรที่ทำกิน
นายจงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังสำรวจเพื่อทำฐานข้อมูล และจะเข้ามาช่วยพัฒนาทั้งดินและน้ำให้ดีขึ้น
ขณะนี้ความต้องการชาวบ้านแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกต้องการกลับไปทำกินตามวิถีชีวิตเดิม ที่บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน
อีกส่วนคือต้องการทำกินอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง แต่อยากให้ภาครัฐช่วยฟื้นฟูเรื่องดินและน้ำ และจัดสรรที่ให้ทำกินในลักษณะหมุนเวียนตามวิถีชีวิตเดิม โดยไม่ไปทับที่ทำกินของชาวบ้านรายอื่น
ขณะที่ นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่อาจทำให้หาทางออกให้แก้ชาวบ้านได้
กลุ่มชาวบ้านบางกลอย มีทั้งหมด 109 ครอบครัว หรือประมาณ 760 คน ขณะนี้มีประมาณ 30 คนที่อพยพกลับขึ้นไปอยู่ที่บ้านบางกลอยบน
ล่าสุด หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งสำรวจรวบรวมฐานข้อมูลที่ทำกินและการประกอบอาชีพของชาวบ้าน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการของคณะทำงาน โดยรับปากว่าจะไม่มีการใช้มาตรการบังคับหรือใช้วิธีการรุนแรงแต่อย่างใด