วันนี้ (3 มี.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะทำงานศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี เข้าพบอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เพื่อทบทวนปัญหาการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ระยะที่ 1 และระงับการดำเนินโครงการระยะที่ 2
เนื่องจากมีความห่วงกังวลต่อการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ระยะที่ 1 ที่อาจเป็นการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชุมชน และอาจไม่สำเร็จตามเป้าหมายการฟื้นฟูที่จะทำให้ชุมชนคลิตี้มีความปลอดภัย
โดย วันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ระบุว่า คณะทำงานศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ มีจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
ขอเข้าพบอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเพื่อทบทวนปัญหาการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ระยะที่ 1 และระงับการดำเนินโครงการระยะที่ 2 ระบุว่า ตามที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ระยะที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในปี 2556 โดยได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาโครงการ และว่าจ้าง
บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ให้ดำเนินการฟื้นฟูตามข้อกำหนดการจ้าง (TOR) และสัญญาจ้าง โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้ควบคุมงาน
เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 - สิงหาคม 2563 เป็นระยะเวลา 1,000 วัน วงเงิน 454 ล้านบาท และต่อมาหลังครบกำหนดเวลา คพ. ได้อนุญาตขยายเวลาดำเนินการไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ปรากฏว่า การดำเนินการฟื้นฟูกลับสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของชุมชน ขาดความโปร่งใสและไม่มีส่วนร่วมของชุมชนและภาคประชาชนอย่างแท้จริงตลอดการดำเนินโครงการ
รวมทั้งถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการทำงานที่มีแนวโน้มไม่สำเร็จตามเป้าหมายการฟื้นฟูที่จะทำให้ชุมชนคลิตี้มีความปลอดภัยอย่างแท้จริง ในขณะที่ คพ.กำลังดำเนินการตรวจรับงานและเตรียมชำระเงินงวดสุดท้ายตามสัญญา และกำลังร่างกรอบการทำงานในโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ระยะที่ 2
คณะทำงานศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความห่วงกังวลต่อการดำเนินการดังกล่าวของ คพ. และเห็นว่าการดำเนินการเช่นนี้จะก่อความเสียหายทั้งต่อรัฐและต่อชุมชนที่ต้องอยู่อาศัยพึ่งพิงลำห้วย เนื่องจาก โครงการระยะที่ 1 มีจุดบกพร่อง ไม่มีการปฏิบัติตาม TOR และยังมีตะกั่วที่ปนเปื้อนในลำห้วยและสิ่งแวดล้อมภายหลังการดำเนินโครงการสูงเกินค่าเป้าหมายการฟื้นฟู ซึ่งเป็นอันตรายต่อชุมชนอย่างมาก
และที่ผ่านมา ชุมชน ภาคประชาชน และกรรมการไตรภาคีได้พยายามสื่อสารปัญหาและทักท้วงข้อผิดพลาดในการดำเนินโครงการ ไปยังรองอธิบดี คพ. ตลอดมา ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนโครงการ ไปจนถึงการดำเนินการฟื้นฟู แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ไม่เปิดเผยข้อมูลตามที่ร้องขอ และที่สำคัญไม่นำข้อเสนอหรือข้อท้วงติงนั้นไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขการทำงาน
คณะทำงานฯ เกรงว่าหากไม่มีการทบทวนและปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานร่วมกัน รัฐจะยังต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงมีจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เพื่อส่งสารถึงอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
ขอให้มีการชะลอการจ่ายเงินงวดสุดท้ายตามสัญญาโครงการระยะที่ 1 และการดำเนินการโครงการระยะที่ 2 เพื่อจัดการพูดคุยทำความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ผ่านมาและทิศทางที่ควรจะเป็นร่วมกันก่อน โดยมีท่านเป็นประธานในที่ประชุม เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการใช้เงินภาษีไปอย่างคุ้มค่า แก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง
เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ใสสะอาดเป็นไปตามค่ามาตรฐานที่ทำให้ชาวบ้านคลิตี้ใช้ชีวิตได้ตามวิถีปกติ ปลอดภัย บรรลุตามคำพิพากษา รวมถึงใช้เงินภาษีของประชาชนซึ่งเป็นงบประมาณในการฟื้นฟูอย่างคุ้มค่า แก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง