วันนี้ (6 มี.ค.2564) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยถึงสถานการณฺ์สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยปี 2563 พบว่าคุณภาพอากาศพื้นที่ทั่วไปภาพรวมคุณภาพอากาศดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้พื้นที่ทั่วไป ตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 ฝุ่น PM2.5 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั่วประเทศ 23 มคก.ต่อลบ.ม.ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 8 ฝุ่น PM10 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั่วประเทศ 43 มคก.ต่อลบ.ม.ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 9 ส่วนก๊าซโอโซนค่าเฉลี่ย 8 ชั่วโมงสูงสุดเฉลี่ยทั้งประเทศ 81 มคก.ต่อลบ.ม.ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 11
ส่วนหนึ่งมาจากขับเคลื่อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ประชาชนลดกิจกรรมการเดินทาง อุตสาหกรรมลดกำลังการผลิต และการใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศลดลง
มลพิษหลักที่ยังเป็นปัญหา คือ ฝุ่นละออง PM2.5 ฝุ่นละออง PM10 และก๊าซโอโซน จังหวัดที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุด 5 อันดับ คือ นราธิวาส สตูล ภูเก็ต สงขลา และยะลา
พื้นที่วิกฤตกทม-ปริมณฑล
สำหรับพื้นที่กทม-และปริมณฑล สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2563 อยู่ในช่วง 20-25
มคก.ต่อลบ.ม.ลดลงกว่าปี 2562 ค่าเฉลี่ยทั้ง 6 จังหวัด คือกทม.นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี และสมุทรสาคร 23 มคก.ต่อลบ.ม.ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 12 ทั้งนี้สถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น และติดตามตรวจสอบและรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในพื้นที่เป็นประจำทุกวัน วันละ 3 เวลา คือ 7.00 น. 12.00 น. และ 17.00 น.เพื่อแจ้งเตือน สื่อสาร และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา การใช้ข้อมูลทางวิชาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
หมอกควันภาคเหนือรุนแรงฝุ่นเกิน 112 วัน
สำหรับสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ มีความรุนแรงกว่าปี 2562 เล็กน้อย จำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 112 วัน ซึ่งเท่ากับปี 2562 จุดความร้อนสะสมมีค่า 88,855 จุด ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 2 ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด 366 มคก.ต่อลบ.ม.เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 4 สาเหตุหลักมาจากมีการเผาในพื้นที่การเกษตรจำนวนมากประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ส่งผลให้มีการลุกลามของไฟป่าอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ต.หน้าพระลานจ.สระบุรี ฝุ่นละออง PM10 มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 92 วัน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 39 ปริมาณฝุ่นละออง PM10 เฉลี่ยรายปี 107 มคก.ต่อลบ.ม. ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 9 โดยร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเขตควบคุมมลพิษ จ.สระบุรี ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการต่างๆ และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เช่น การติดตามตรวจสอบฝุ่นละอองทั้งในบรรยากาศทั่วไปและการระบายฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิด ส่ง Mr. PM10 ลาดตระเวนพื้นที่สุ่มตรวจแบบ Spot check ตรวจจับรถใช้งานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซ่อมบำรุง ดูแลและทำความสะอาดถนนที่เป็นเส้นทางจราจรเพื่อลดปริมาณการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง