1.ใครขอ ….
เมื่อปี 2562 มีโครงการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี ของกรมฯ หนึ่ง ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย อ้างว่า เพื่อกระจายอำนาจไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 49 จังหวัด เพื่อทำโครงการถนนยางพารา (พาราซอยล์ซีเมนต์)
มีงบประมาณคงเหลือจากกงบประมาณประจำปี ประมาณ 1,800 ล้านบาท (ตัวเลขกลม ๆ ประมาณ 2,000 ล้านบาท) ผู้บริหารระดับสูงของกรมฯ ก็จัดการอนุมัติจัดสรรงบฯ ไปลงจังหวัดต่าง ๆ 49 จังหวัด ระบุว่า เพื่อให้นำไปทำโครงการจัดซื้อจัดจ้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ และแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ
จริง ๆ ก็เป็นโครงการที่น่าจะดี ได้ทั้งถนนมีคุณภาพ และแก้ปัญหาราคายางพาราไปด้วย แต่ไม่ได้เป็นเรื่องดี ๆ แบบนั้นทั้งหมด แต่เรื่องกลับกลายเป็นวิธีการหาเงิน จากงบประมาณแผ่นดิน ที่มาจากภาษีประชาชน
จุดเริ่มต้น เริ่มจากผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้รับการติดต่อจากคนกลาง ให้รู้จักกับผู้บริหารหน่วยงานระดับเทศบาลตำบลแห่งหนึ่ง
ต่อมาผู้บริหารเทศบาลแห่งนั้น ก็อ้างโครงการของกรมแห่งนั้น ในกระทรวงมหาดไทย ว่า กำลังมีโครงการถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ผู้บริหารเทศบาลคนดังกล่าว จึงส่งรายละเอียดโครงการผ่านทางไลน์ และชักชวนผู้รับเหมาคนนั้นให้เป็นคู่สัญญา
ซึ่งผู้บริหารเทศบาลคนดังกล่าว อ้างว่า ตนเองสามารถวิ่งเต้นจัดสรรงบประมาณ จากผู้บริหารกรมดังกล่าว ลงไปยังท้องถิ่นได้ จากนั้นผู้บริหารของกรมฯ มอบหมายให้ผู้บริหารเทศบาล เป็นคนติดต่อคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง
โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าจะยื่นประมูลรับงาน จะต้องซื้อน้ำยางพารา จากบริษัทขายน้ำยางที่มีใบรับรองเท่านั้น
และผู้บริหารเทศบาล ยืนยันว่า บริษัทที่ขายน้ำยาง ก็เป็นบริษัทที่ตัวเองเป็นหุ้นส่วน และเป็นเครือข่ายเดียวกับตัวเอง ในลักษณะนอมินี
ซึ่งบริษัทที่ขายน้ำยางพาราที่ได้รับการรับรองขณะนั้น มีเพียง 3 บริษัทเท่านั้น
ที่สำคัญ หากตกลงในเงื่อนไขทั้งหมดได้ และต้องการจะทำโครงการถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ผู้รับเหมาจะต้องจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้า ให้ร้อยละ 12-15 ของเงินงบประมาณที่ได้รับ
ค่าตอบแทนล่วงหน้ามีภาษาที่รู้กันในการพูดคุยว่า “ค่าขนม”
“ค่าขนม” จะถูกแบ่งสรรปันส่วน เป็น 3 ก้อน ก้อนแรก ให้ผู้บริหารของกรมฯ ร้อยละ 10 ก้อนที่ 2 ให้ผู้บริหารเทศบาล ร้อยละ 2 และก้อนที่ 3 แบ่งให้กับทีมงาน ร้อยละ 3
โดยมีเงื่อนไขให้ผู้รับเหมาสบายใจ คือ “ถ้าไม่ได้งาน” จะคืนเงินให้ทั้งหมด ผู้รับเหมาจึงเชื่อ แต่มีข้อตกลงกันว่า ผู้บริหารเทศบาลต้องจัดเตรียมโครงการ และให้ผู้รับเหมาเตรียมเอกสารเข้ารับงานเป็นคู่สัญญา รวม 55 โครงการ งบประมาณ 394 ล้านบาท
เมื่อคำนวณจาก “ค่าขนม” ร้อยละ 15 จึงเท่ากับว่า มี “ค่าขนม” 60 ล้านบาท
2.โอนเงินค่าขนม
- 24 ส.ค.62 = 445,050 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx-4 ธ.ทหารไทย ออมทรัพย์
- 25 ส.ค.62 = 4,207,913 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -0 ออมทรัพย์
- 31 ส.ค.62 = โอน 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ล้านบาท รวม 4 ล้านบาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 1 ก.ย.62 = 2,000,000 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 5 ก.ย.62 = 1,000,000 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 16 ก.ย.62 = 1,000,000 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 17 ก.ย.62 = 2,000,000 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 11 ต.ค.62 = 1,500,000 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 12 ต.ค.62 = 1,500,000 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 3 ก.ย.62 = ให้เงินสด ที่บ้านพักผู้บริหารเทศบาล 6,274,950 บาท
- 10 ก.ย.62 = ให้เงินสด ที่บ้านพักผู้บริหารเทศบาล 4,941,000 บาท
- 6 ต.ค.62 = ให้เงินสด ที่บ้านพักผู้บริหารเทศบาล 11,787,720 บาท
รวมเงินค่าขนม = 39,656,633 บาท
หลังจากจ่ายเงิน “ค่าขนม” ผู้บริหารเทศบาล การันตีว่า จะได้งานโครงการฯ แน่นอน แต่หากไม่ได้รับงานจริง จะคืนเงินให้ทั้งหมด และยังได้สั่งจ่ายเช็คคืนเงินไว้ล่วงหน้า ว่า หากไม่ได้รับงานโครงการฯ ก่อสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ก็ให้นำเช็คไปขึ้นเงิน เพื่อรับเงินคืนได้ ซึ่งมีรายละเอียดเช็คดังนี้
- เช็คนิติบุคคล = 6,274,950 บาท
- เช็ค = 4,941,000 บาท
- เช็ค 2 ฉบับ = 11,787,720 บาท
3.ทวงเงินค่าขนม
ปัญหาความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้น เมื่อต้นเดือนกันยายน 2562-ตุลาคม 2562 ผู้รับเหมากลับได้งานไม่ครบ ตามโครงการฯ ก่อสร้างครบทั้ง 55 โครงการฯ
บริษัทผู้รับเหมาจึงทวงถามเงินคืน แต่ผู้บริหารเทศบาล ขอร้องไม่ให้นำเช็คไปขึ้นเงิน อ้างว่าโครงการฯ จะออกเร็วๆ นี้ และจะได้งานตามข้อตกลง
ต่อมาวันที่ 7 เม.ย.2563 บริษัทผู้รับเหมา นำเช็คไปขึ้นเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะไม่มีเงินในบัญชีดังกล่าว ผู้รับเหมาจึงทวงถามเงิน แต่กลับถูกเพิกเฉย
วันที่ 3 ธ.ค.2563 บริษัทผู้รับเหมาสอบถามไปยังอธิบดีกรมฯ เพื่อทวงถามเงิน เพราะมีชื่อถูกพาดพิง และบอกให้ผู้บริหารเทศบาลคืนเงิน แต่ถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่ 3
วันที่ 18 ธ.ค.2563 ทวงถามเงินคืนอีกครั้ง แต่ก็ยังถูกปฏิเสธ
อ่านต่อ
เปิดตัวละครในขบวนการ เครือข่าย “ค่าขนม” ถนนยางพารา 40 ล้าน (EP.2)