ความเดิมตอนที่แล้ว : EP.01
เปิดขบวนการแบ่ง “ค่าขนม” จากโครงการถนนยางพารา (EP.1)
เปิดโปงตัวอย่างหลักฐานการเรียกเก็บเงินสินบน ที่เรียกว่า “ค่าขนม” ที่ผู้บริหารเทศบาลเรียกเงินจากผู้รับเหมา เพื่อแลกกับงานโครงการถนนยางพารา (พาราซอยล์ซีเมนต์) ซึ่งเป็นโครงการจากการแปลงงบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2562 ของกรม ฯ หนึ่ง ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีงบประมาณ 1,800 ล้านบาท
ความเดิมตอนที่แล้ว : EP 02 :
เปิดตัวละครในขบวนการ เครือข่าย “ค่าขนม” ถนนยางพารา 40 ล้าน (EP.02)
เปิดโปงเครือข่ายสินบน(ค่าขนม) โครงการถนนยางพารา (พาราซอยล์ซีเมนต์) ซึ่งมีตัวละครเกี่ยวข้องทั้งในระดับ ผู้บริหาร ซี10 อนุมัติโครงการ และผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงวิธีการล็อคสเปคถนนยางพารา (พาราซอยล์ซีเมนต์)
ในตอนนี้จะเปิดเผยหลักฐานเอกสารโครงการที่แม้ยังไม่ได้เซ็นลงนามอนุมัติ แต่ตัวละครที่ 2 (ผู้บริหารเทศบาลตำบลระดับปลัดเทศบาล - ทำหน้าที่รักษาการผู้บริหารเทศบาลตำบล สามารถส่งเอกสารไปชักชวนผู้รับเหมาได้ ทำได้อย่างไร...และคงทำไม่ได้ หากไม่สนิทสนมกัน)
ในตอนนี้จะเปิดเผยให้เห็นแผนตัดตอนการทุจริตโครงการนี้
1.หลักฐานอนุมัติโครงการ
หลังจาก ผู้บริหารระดับ 10 ระดับกรมฯ ริเริ่มจะทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ เพื่อใช้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท (ที่เหลืออยู่และไม่อยากส่งคืนกระทรวงการคลัง) กระจายไปให้ 49 จังหวัด
แนวคิดนี้ ถูกพูดคุยกันวงในเพื่อหาผู้รับเหมา เพราะผู้บริหารเทศบาล เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำยางพาราอยู่แล้ว (ในขณะนั้น ปี 2562 มีเพียง 3 บริษัท ที่ได้รับอนุญาต และทั้งหมดเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ที่วงในรู้กันดีว่ามีการล็อกสเปคในการรับอนุญาต)
ผู้บริหารเทศบาลมีหน้าที่เพียงหาผู้รับเหมา ทั้งมาซื้อน้ำยางของตัวเอง และหาโครงการไปลง รวมทั้งเรียกรับเงินจากผู้รับเหมา
แต่อะไรที่จะทำให้ผู้รับเหมาเชื่อได้ว่า ทำได้แบบนั้น บริษัทรับเหมารายหนึ่ง ก็ตั้งคำถามแบบนี้เพื่อความมั่นใจ
ผู้บริหารเทศบาลส่งเอกสาร ระบุเดือนสิงหาคม ปี 2562 เรื่องการใช้งบประมาณ ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และมีบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้าย
แน่นอนว่าเป็นรายชื่อจังหวัดที่เลือกให้ตรงกับพื้นที่ ที่ผู้รับเหมาจะได้โครงการนี้ และเป็นเอกสารที่ยังไม่ได้ให้ผู้บริหารซี 10 ลงนาม เพื่อยืนยันว่า ผู้บริหารเทศบาล ติดต่อกับผู้บริหาร ซี 10 ได้จริง ๆ และคัดเลือกงานให้ผู้รับเหมาได้จริง (ดูได้จากภาพ 1-2 : เอกสารที่ไม่ลงนาม)
2.หลักฐานตัวเลข 15 %
ผู้รับเหมาเชื่อว่าจะได้งานจริงและยอมจ่าย 15 % จากทั้งหมด 55 โครงการ แต่จะจ่ายเงินให้เป็นรายโครงการ และผู้บริหารจะตีเช็คคืน ตามจำนวนเงินที่จ่าย เพื่อค้ำประกันว่า หากไม่ได้งานให้นำเช็คไปรับเงินคืนได้
และผู้บริหารเทศบาล คำนวณยอดเงินทั้งหมด ส่งให้ผู้รับเหมา ซึ่งมีทั้งรายละเอียดโครงการถนนทั้งหมด เช่น งบประมาณแต่ละโครงการ, จำนวนเงินรายโครงการ ที่ต้องหักไป 15 %, ส่วนแบ่ง 10 % สำหรับผู้บริหาร ซี 10, ส่วนแบ่งสำหรับผู้บริหาร เทศบาล 2 %, และส่วนแบ่ง 3% สำหรับเจ้าหน้าที่ดำเนินการ
3.จุดแตกหัก
จุดแตกหัก เกิดขึ้นเพราะทุกครั้งเมื่อต้องจ่ายเงิน ผู้บริหารเทศบาลจะตีเช็คเพื่อค้ำประกันว่า หากไม่ได้งานก่อสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ให้นำเช็คไปขึ้นเงินได้ทันที
จนกระทั่งงวดโครงการ ที่ผู้รับเหมาต้องจ่ายเงินจำนวนมาก (ตามเอกสารภาพที่ 3 ) เป็นเงินก้อนใหญ่จำนวน 28,510,990 (ยี่สิบแปดล้านห้าแสนหนึ่งหมื่นเก้าร้อยเก้าสิบบาทถ้วน)
เนื่องจากเป็นเงินจำนวนมาก ผู้รับเหมาจึงหาเงินให้ไม่ทัน ผู้บริหารเทศบาล จึงเสนอให้ทำเป็นสัญญาเงินกู้แทน เพื่อให้ผู้รับเหมาทยอยจ่ายในภายหลัง สัญญาเงินกู้จึงมีจำนวนเงินที่ตรงกับ ยอดสินบนที่เรียกเก็บจากผู้รับเหมา
รอติดตาม EP.04 : เมื่อเรื่องเกิดปัญหา มีจุดแตกหักแล้ว เจรจาตกลงกันอย่างไร .. มีหลักฐานไปถึงผู้บริหาร ซี 10 หาคนกลางเจรจาต่อรองเพื่อเคลียร์ปัญหาเงิน “ค่าขนม”