ความเดิมตอนที่แล้ว : EP.1
เปิดขบวนการแบ่ง “ค่าขนม” จากโครงการถนนยางพารา (EP.1)
เปิดโปงตัวอย่างหลักฐานการเรียกเก็บเงินสินบน ที่เรียกว่า “ค่าขนม” ที่ผู้บริหารเทศบาลเรียกเงินจากผู้รับเหมา เพื่อแลกกับงานโครงการถนนยางพารา (พาราซอยล์ซีเมนต์) ซึ่งเป็นโครงการจากการแปลงงบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2562 ของกรม ฯ หนึ่ง ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีงบประมาณ 1,800 ล้านบาท
ความเดิมตอนที่แล้ว : EP.2
เปิดตัวละครในขบวนการ เครือข่าย “ค่าขนม” ถนนยางพารา 40 ล้าน (EP.2)
เปิดโปงเครือข่ายสินบน(ค่าขนม) โครงการถนนยางพารา (พาราซอยล์ซีเมนต์) ซึ่งมีตัวละครเกี่ยวข้องทั้งในระดับ ผู้บริหารระดับ 10 อนุมัติโครงการ และผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงวิธีการล็อคสเปค ถนนยางพารา(พาราซอยล์ซีเมนต์)
ความเดิมตอนที่แล้ว : EP.3
แผนตัดตอน “ค่าขนม” 40 ล้าน ! (โครงการถนนยางพารา) (EP.3)
เปิดเผยหลักฐานเอกสารโครงการถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ เพื่อใช้งบฯ 1,800 ล้านบาท กระจายไปให้ 49 จังหวัด จากกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี’62 แม้ยังไม่ได้เซ็นลงนามอนุมัติ แต่ผู้บริหารเทศบาลตำบลระดับปลัดเทศบาล - ทำหน้าที่รักษาการผู้บริหารเทศบาลตำบล ก็สามารถนำเอกสารออกจากกระทรวงได้
เอกสารฉบับนี้ ส่งมาได้อย่างไร ซึ่งคนที่ส่งมา ผู้บริหารเทศบาลตำบลระดับปลัดเทศบาล ใช้คำเรียกว่า “นาย” และมีเอกสารสรุปบัญชีรายจ่าย ตัวเลขส่วนแบ่ง สินบน (ค่าขนม) ว่า แต่ละโครงการจ่ายเท่าไหร่. เช่น 10 % สำหรับผู้บริหารระดับ 10 , ส่วนแบ่งสำหรับผู้บริหาร เทศบาล 2 % , และส่วนแบ่ง 3% สำหรับเจ้าหน้าที่ดำเนินการ
แต่จุดแตกหักระหว่างผู้รับเหมา -ผู้บริหารเทศบาล เกิดขึ้นเพราะ เมื่อผู้รับเหมาได้โครงงานถนนยางพาราไม่ครบ แทนที่จะคืนเงิน”ค่าขนม” แต่กลับนำจำนวนเงินสัญญาเงินกู้ “ค่าชนม” ไปฟ้องผู้รับเหมา กลายเป็นต้องจ่าย 2 รอบ ใครมันจะยอมได้ ...!
สำหรับ ตอน EP.4 : ตอนนี้ จะเปิดเผยว่า หลังจากแตกหักกันแล้ว เจรจากันอย่างไร ผู้บริหารระดับ 10 จะทำอย่างไรเมื่อคนสนิทของตัวเอง ตกที่นั่งลำบาก และกำลังลากปัญหามาถึงกระทรวงฯ ด้วย (กลับไปอ่าน EP.1- EP.3 ตามลิงค์ด้านบน)
1.เมื่อถึงวันแตกหัก
ปัญหาความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้น ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน - ตุลาคม 2562 ผู้รับเหมาได้งานโครงการถนนยางพาราพาราซอยล์ซีเมนต์ ไม่ครบทั้ง 55 โครงการ ซึ่งผู้รับเหมาที่ได้รับโครงการทั้งหมด คิดเป็นเงินงบประมาณ 400 ล้านบาท และบริษัทผู้รับเหมาจ่ายเงิน “ค่าขนม” ไปล่วงหน้าแล้ว ประมาณ 40 ล้านบาท
ทำให้บริษัทผู้รับเหมา ทวงถามเงินคืน แต่ผู้บริหารเทศบาลบ่ายเบี่ยง และขอร้องไม่ให้นำเช็คไปขึ้นเงิน (เป็นเช็คที่ผู้บริหารเทศบาล เขียนให้เพื่อค้ำประกันว่า จะได้รับงานก่อสร้างถนนแน่นอน แต่หากไม่ได้งาน ก็นำเช็คไปขึ้นเงินคืนได้)
การทวงเงินครั้งแรก ๆ ผู้บริหารเทศบาล อ้างว่าโครงการจะออกเร็วๆ นี้ และจะได้งานตามข้อตกลง
วันที่ 7 เม.ย.2563 บริษัทผู้รับเหมา นำเช็คไปขึ้นเงิน ปรากฏว่า ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะไม่มีเงินในบัญชี (มีภาพตัวอย่าง เช็ค ภาพ : 1 ) ผู้รับเหมาจึงทวงถามเงิน แต่กลับถูกเพิกเฉย
วันที่ 3 ธ.ค.2563 บริษัทผู้รับเหมาสอบถามไปยังผู้บริหารระดับ 10 ของกรมฯ เพราะถูกอ้างชื่อว่า คือ “นาย” ที่ได้รับส่วนแบ่ง 10 % เพื่อทวงถามเงิน เ และเพื่อให้ช่วยเตือนผู้บริหารเทศบาลคืนเงิน แต่ถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่ 3
วันที่ 18 ธ.ค.2563 ผู้รับเหมาทวงถามเงินคืนอีกครั้ง เดินทางไปพบกับผู้บริหารเทศบาลตำบล ในขณะนั้นย้ายมารักษาการนายกเทศบาลตำบลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดแถบปริมณฑล แต่ก็ยังถูกปฏิเสธ
ต่อมาผู้รับเหมา จะขอเข้าพบกับผู้บริหารระดับ 10 ที่กรมฯ เนื่องจากผู้บริหารระดับ 10 ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งในอีกกรมหนึ่ง สำกัดกระทรวงมหาดไทย แต่ผู้บริหารระดับ 10 ก็ปฏิเสธว่า ไม่ทราบเรื่องการเรียกรับเงิน และบอกว่า เป็นเรื่องขัดแย้งทางธุรกิจส่วนตัว จึงควรไปเจรจาตกลงกันเอง
วันที่ 18 ก.พ.2564 ผู้บริหารระดับ 10 ใช้โทรศัพท์หมายเลข 09X-XXXXX5X โทรไปหาผู้รับเหมา ใช้เวลาคุยกันประมาณ 5 นาที มีใจความ ให้ไปพูดคุยเจรจากับผู้บริหารเทศบาล เพื่อหาทางออกและเคลียร์ปัญหาให้เรียบร้อย
วันที่ 19 ก.พ.2564 ผู้บริหาร ปลัดเทศบาลได้ติดต่อคนกลาง (เพื่อนนักเรียนร่วมรุ่น XXX. ของผู้บริหารระดับ 10 ) ให้ช่วยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย แต่ผู้บริหารระดับ 10 บอก คนกลางไปว่า “จะมีค่าไกล่เกลี่ย 5 ล้านบาท มีส่วนแบ่งให้คนกลาง 2 ล้านบาท” แต่คนกลางขอปฏิเสธช่วยไกล่เกลี่ยให้
วันที่ 20 ก.พ.2564 มีคนกลางอีก 1 คน เป็นคนมีชื่อเสียงทางการเมือง โทรศัพท์มาเพื่อขอเคลียร์ปัญหา และอยากให้ผู้รับเหมาไปพบอีกครั้ง
ต่อมาอีกไม่นาน ผู้บริหารเทศบาล ได้ให้ทนายความโทรศัพท์ไปขอเจรจาอีกครั้ง และยอมคืนเงินให้ครึ่งหนึ่ง จำนวน 20 ล้านบาท แต่ผู้รับเหมาไม่ตกลง เพราะผู้รับเหมา เสียหายไปมากกว่า 20 ล้านบาท จำนวนเงิน “ค่าขนม” ทั้งหมดเกือบ 40 ล้านบาท
2.กระทรวงมหาดไทย สั่งให้สอบข้อเท็จจริง
เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2564 กระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง มีกรรมการประกอบด้วย /รองปลัดกระทรวง/ ผู้ตรวจราชการ / รองอธิบดีกรมฯ / ผอ.สำนักกฎหมาย / ผอ.กลุ่มงานวินัย / นิติกร ฯลฯ
ต้องรอดูว่า .. เรื่องแบบนี้จะถูกตัดตอน ให้เป็นเพียงขัดแย้งส่วนตัว หรือ คดีฉ้อโกง กันเองระหว่าง เจ้าหน้าที่กับผู้รับเหมาหรือไม่
ตอนหน้า EP.5 : จะชี้ให้เห็นว่า โครงการถนนยางพาราซอยซีเมนต์ ไม่ใช่แค่ความไม่ชอบมาพากล ในหน่วยงานเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อตรวจสอบย้อนหลัง มีความเชื่อมโยงไปถึง โครงการขายน้ำยางพารา และ “โครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร”
เดือนธ.ค.2561 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเดินหน้า “โครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร” สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำน้ำยางพาราไปใช้สร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ทั่วประเทศ จำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 75,032 กิโลเมตร
สมมติฐาน “ค่าขนม” เพียง 15% เราจะสูญเสียงบประมาณไปเข้ากระเป๋าใครบ้าง.. เท่าไหร่
หากผู้รับเหมา ไม่ต้องจ่าย “ค่าขนม” เราจะประหยัดงบประมาณ ไปได้เท่าไหร่ และนำไปพัฒนารูปแบบอื่น ๆ ได้