วันนี้ (17 มี.ค.2564) ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 (เรื่องพิจารณาที่ ต. 59 /2563) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า
มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 (วันที่ 27 พ.ย.2545 )ซึ่งผู้ร้องอ้างว่า เป็นระเบียบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 147 ขอให้สั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว มีคำสั่งรับไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ศาลปกครองสูงสุด ส่งเอกสารรายงานการประชุมตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าว รวมทั้งระเบียบและเอกสารที่เกี่ยวข้อง มาพิจารณา
ต่อมาศาลปกครองสูงสุดส่งหนังสือชี้แจง และเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญรวม 2 ครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับรวมไว้ในสำนวน ผลการพิจารณาการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันนี้
โดยครบองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 52 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า องค์คณะของศาลในการพิจารณาคดีและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการไม่น้อยกว่า 7 คน
(เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่ต้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 34 ประกอบมาตรา 32 (1) และนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลือก นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561มาตรา 18 วรรคสี่)
โดยศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2555 (วันที่ 27 พ.ย.2556) เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองเป็นการออกระเบียบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระบุว่า หลังจากนี้จะรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะส่งคำวินิจฉัย กลับมาที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะผู้ร้อง ก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะส่งคำวินิจฉัยกลับมายังกระทรวงคมนาคม หลังจากนั้น คณะทำงานติดตามคดีฯ ที่กระทรวงคมนาคมแต่งตั้งขึ้น จะพิจารณาการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย รายงานว่า ขณะนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างการรอสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปดำเนินการขอคัดถ่ายคำวินิจฉัยกลาง ของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำมาพิจารณาเนื้อหาและรายละเอียดต่างๆ พร้อมกับประสานงานกับกระทรวงคมนาคม ในการพิจารณาแนวทาง เพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากกรณีนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ยื่นคำร้องแทนกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ทุกองค์กรจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ