ความเดิมตอนที่แล้ว : EP : 1
เปิดขบวนการแบ่ง “ค่าขนม” จากโครงการถนนยางพารา (EP.1)
เปิดโปงตัวอย่างหลักฐานเรียกเก็บเงินสินบน ที่เรียกว่า “ค่าขนม” ที่ผู้บริหารเทศบาลเรียกเงินจากผู้รับเหมา แลกกับงานโครงการถนนยางพารา (พาราซอยล์ซีเมนต์) ซึ่งเป็นโครงการจากการแปลงงบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2562 ของกรม ฯ หนึ่ง ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีงบประมาณ 1,800 ล้านบาท
ความเดิมตอนที่แล้ว : EP : 2
เปิดตัวละครในขบวนการ เครือข่าย “ค่าขนม” ถนนยางพารา 40 ล้าน (EP.2)
เปิดโปงเครือข่ายสินบน(ค่าขนม) โครงการถนนยางพารา (พาราซอยล์ซีเมนต์) ซึ่งมีตัวละครเกี่ยวข้องทั้งในระดับ ผู้บริหารระดับ 10 อนุมัติโครงการ และผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงวิธีการล็อคสเปค ถนนยางพารา(พาราซอยล์ซีเมนต์)
ความเดิมตอนที่แล้ว : EP : 3
แผนตัดตอน “ค่าขนม” 40 ล้าน ! (โครงการถนนยางพารา) (EP.3)
https://news.thaipbs.or.th/content/302442
เปิดเผยหลักฐานเอกสาร จากกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี’ 62 แม้ยังไม่ได้เซ็นลงนามอนุมัติ แต่ผู้บริหารเทศบาล ก็สามารถนำเอกสารออกจากกระทรวงได้ ผู้บริหารเทศบาล ใช้คำเรียกว่าคนอนุมัติ ว่า คือ “นาย” และมีเอกสารสรุปบัญชีรายจ่าย ตัวเลขส่วนแบ่ง สินบน “ค่าขนม”
ความเดิมตอนที่แล้ว : EP : 4
สอบข้อเท็จจริง หรือ ตัดตอน “ค่าขนม” (โครงการถนนยางพารา) 40 ล้าน ! (EP.4)
เปิดเผย การเจรจาต่อรอง เมื่อคนสนิทของผู้บริหารระดับ 10 ตกที่นั่งลำบาก และกำลังลากปัญหามาถึงกระทรวงฯ การต่อรองมีทั้งพบหน้ากัน พูดคุยทางโทรศัพท์ และหาคนกลางมช่วยไกล่เกลี่ย มีค่าไกลเกลี่ย ถึง 5 ล้านบาท แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะผู้รับเหมา จ่าย “ค่าขนม”ไปล่วงหน้า เกือบ 40 ล้านบาท แต่ไม่ได้งานถนนพาราซอยล์ซีเมนต์
........................
ตอนนี้ EP : 5 เป็นตอนสุดท้าย จะชี้ให้เห็นว่า ระบบการทุจริตโครงการถนนยางพาราซอยซีเมนต์ ไม่ใช่แค่ความไม่ชอบมาพากลในหน่วยงานเดียวเท่านั้น หรือเฉพาะกรณีของผู้รับเหมาเพียงรายเดียว
แต่เมื่อตรวจสอบย้อนหลัง “โครงการถนนยางพาราซอยซีเมนต์” มีความเชื่อมโยงไปถึง โครงการขายน้ำยางพารา ที่บริษัทขายน้ำยางพาราผสมสาร และตัวแทนจำหน่าย ล้วนแล้วแต่เป็นคนกลุ่มเดียวกันที่สร้างแผนการณ์จาก “โครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร”
โครงการถนนยางพาราซอยซีเมนต์ มีจุดเริ่มต้นมาเหตุผลที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือชาวเกษตรกรสวนยางพารา เพราะได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำ รัฐบาลในช่วงเวลานั้น จึงมีนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐ นำน้ำยางไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะนำน้ำยางพาราผสมสารไปสร้างถนน
เดือนธันวาคม 2561 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเดินหน้า “โครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร” สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำน้ำยางพาราไปใช้สร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ทั่วประเทศ จำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 75,032 กิโลเมตร
กระทรวงมหาดไทย ได้รับนโยบายนี้ และมอบหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้น. เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2562 ประมาณการณ์กันว่าต้องใช้น้ำยางสด มาทำถนนมากถึง 1 ล้าน 4 แสนตัน หรือ หากเป็นน้ำยางข้น ประมาณ 7 แสนตัน
1 เดือนต่อมา วันที่ 7 ก.พ.2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมเพิ่มและผสมเพิ่ม เพื่อรับรองสารผสมดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพยางพาราตามธรรมชาติ หมายถึงต้องมีการรับรองน้ำยางที่จะนำมาทำถนน
มี.ค.2562 มีหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งเรื่องรับรองมาตรฐานน้ำยางพาราผสมเพิ่ม พร้อมกับรายชื่อบริษัทที่ผ่านการรับรอง จากคณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมฯ แต่น่าสนใจว่า มีบริษัทที่มีรายชื่อผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำยางพารา รอบแรกเพียง 3 บริษัท
วันที่ 3 พ.ค.2562 ผ่านการรับรองมาตรฐาน 3 บริษัท
วันที่ 23 ส.ค.2562 ผ่านการรับรองมาตรฐาน 2 บริษัท
วันที่ 19 ก.ย.2562 ผ่านการรับรองมาตรฐาน 1 บริษัท
วันที่ 18 ต.ค.2562 ผ่านการรับรองมาตรฐาน 1 บริษัท
วันที่ 21 พ.ย.2562 ผ่านการรับรองมาตรฐาน 3 บริษัท
วันที่ 2 เม.ย.2563 ผ่านการรับรองมาตรฐาน 1 บริษัท
วันที่ 9 มิ.ย.2563 ผ่านการรับรองมาตรฐาน 1 บริษัท
วันที่ 31 ก.ค.2563 ผ่านการรับรองมาตรฐาน 1 บริษัท
ความน่าสนใจ อยู่ที่ 3 บริษัทรอบแรก เพราะจะเชื่อมโยงไปถึงเงิน “ค่าขนม” ที่ผู้รับเหมาบริษัท บริษัททราฟิคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
3 บริษัทรอบแรก คือ บริษัทโพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด, บริษัท สยามนวกรรม จำกัด , และบริษัทไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด บริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย แจ้งที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน คือ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
เมื่อตรวจสอบการจดทะเบียน กรรมการผู้ถือหุ้น บางบริษัทเป็นกลุ่มเดียวกันมีเชื่อมโยงกัน เช่น กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด มีนามสกุลเดียวกับ กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทโพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด
นอกจากนั้นแล้ว ยังพบข้อมูลอีกว่า
- บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด แต่งตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) โชคประดิษฐ์ก่อสร้าง เป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2561
- บริษัท สยามนวกรรม จำกัด แต่งตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) พัชราการยาง เป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.2561
3 บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด แต่งตั้ง บริษัท ไทย ภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561
และเมื่อดูข้อมูลของ ตัวแทนจำหน่ายน้ำยาง คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดโชคประดิษฐ์ก่อสร้าง, ห้างหุ้นส่วนจำกัดพัชราการยาง, และบริษัท ไทย ภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ก็พบว่า
มีเจ้าของเป็นกลุ่มทุนเดียวกันคือ ผู้บริหารเทศบาลในเรื่องนี้ ตั้งแต่เริ่มต้น และชื่อของคนใกล้ชิดปลัดเทศบาล ก็มีกิจการธุรกิจโรงรับจำนำ อีกทั้งยังมีชื่อเป็นคนรับโอนเงิน “ค่าขนม 40 ล้านบาท” โรงรับจำนำก็เป็นนิติบุคคบลที่สั่งจ่ายเช็ค ให้ผู้รับเหมาทำถนน ..แบบนี้ เรียกว่า กินรวบ ทั้งขายน้ำยาง และ “ค่าขนม” โครงการทำถนน (มีหลักฐานใน EP : 3-4)
โครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ระยะทาง 75,032 กิโลเมตร หน่วยงานราชการบางหน่วยงาน ออกประกาศประกวดราคาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างถนน กำหนดคุณสมบัติให้ผู้เสนอราคา และร่างขอบเขตงาน (TOR) ต้องแนบเอกสารรับรองมาตรฐานวัสดุและคุณสมบัติน้ำยางฯ ที่ผูกขาดเพียง 3 บริษัทในขณะนั้น
ส่งผลให้ราคาน้ำยางที่ใช้ในโครงการ ปรับราคาขึ้นสูงกว่าที่ขาย จากลิตรละ 45-50 บาท (รวมค่าขนส่ง) เป็น 85 บาท (ไม่รวมค่าขนส่ง) ผู้รับเหมาที่ได้รับงาน ต้องหาทางลดราคาวัตถุดิบ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แน่นอนว่า ก็ต้องไปทำให้คุณภาพของถนนต่ำลงด้วย
คำนวณว่า หากถนนใช้น้ำยางฯ 10-12 ตัน / 1 กม. จะมีส่วนต่างเกิดขึ้นถึง 400,000 - 480,000 บาท / กม. และสมมติฐาน แค่ “ค่าขนม” 15 % เราจะสูญเสียงบประมาณไปเข้ากระเป๋าใครบ้าง.. เท่าไหร่ และหากผู้รับเหมา ไม่ต้องจ่าย “ค่าขนม” เราจะประหยัดงบประมาณ ไปได้เท่าไหร่ และนำไปพัฒนารูปแบบอื่นๆ ได้