ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รอถามเลขาฯ สพฉ.คนใหม่ ให้ใครนั่งรองเลขาฯ

สังคม
31 มี.ค. 64
18:47
775
Logo Thai PBS
รอถามเลขาฯ สพฉ.คนใหม่ ให้ใครนั่งรองเลขาฯ
หัวหน้างานสื่อสารองค์การ สพฉ. เตรียมตั้งคำถามกับเลขาฯ สพฉ.คนใหม่ ถึงคุณสมบัติรองเลขาฯ ในวันรับตำแหน่งพรุ่งนี้ (1 เม.ย.) ขณะที่ประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ ยืนยันขั้นตอนโปร่งใส ตรวจสอบได้ หลังกระแสแต่งดำค้าน "อดีตนักข่าว"

จากกรณีพนักงานส่วนหนึ่งของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร้องเรียนและตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในกระบวนการแต่งตั้งรองเลขาธิการ สพฉ. ที่อาจมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนนั้น

วันนี้ (31 มี.ค.2564) นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการ สพฉ. ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สพฉ. โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ชี้แจงว่า กรณีมีข้อสังเกตถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการแต่งตั้งรองเลขาธิการในช่วงเวลานี้ เนื่องจาก สพฉ. เป็นองค์กรที่รับผิดชอบงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินประเทศจำนวนมาก ต้องประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ในปัจจุบันผู้บริหารระดับสูงซึ่งมี 4 ตำแหน่ง เหลือตนเองคนเดียวในตำแหน่งรองเลขาธิการ อาจไม่ครอบคลุมงานทุกส่วนได้ทันท่วงที จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเปิดรับผู้บริหารระดับสูงเข้ามาดำรงตำแหน่งในเวลานี้

หวังปรับภาพลักษณ์ให้เป็นที่รู้จัก

คำสั่งของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ซึ่งรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลที่สมควร โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องทำให้แล้วเสร็จในวันที่เท่าใด แต่ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด จึงถือว่าไม่ได้มีการเร่งรัดแต่อย่างใด และเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา กรรมการหลายคนได้ประชุมหารือกันและมองถึงงานขององค์กร ว่าด้านใดบ้างที่ยังต้องมีการพัฒนา ก็จะมีเรื่องที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ได้เคยมีมติในที่ประชุม ให้ สพฉ. ไปเน้นการพัฒนา 10 ประการ หนึ่งเรื่องที่สำคัญที่ กพฉ. เน้น ก็คือการ Rebranding สพฉ. อยากให้ภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นที่รู้จักและยอมรับในฐานะองค์กรสำคัญในการจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ และความเชื่อมั่นของประชาชน รวมถึงการประสานงานกับเครือข่ายก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตำแหน่งที่จะเข้ามาบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ ควรสรรหาให้เป็นผู้บริหารระดับสูง

สำหรับบุคคลที่กรรมการมองไว้ คือ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ. ที่เพิ่งหมดวาระไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกับเลขาธิการ ซึ่งงานที่คณะกรรมการกำหนดคุณสมบัติ ก็เป็นบทบาท ภารกิจ และตำแหน่งที่ได้ทำไว้อยู่แล้วและต้องการความต่อเนื่อง และจากผลการคัดเลือกเลขาธิการ สพฉ. เป็นคนเดิมที่จะเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งเป็นทีมบริหารชุดเดิมที่เคยทำงานร่วมกัน

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย

 

ยืนยัน คกก.ทำตามกฎหมาย-ตรวจสอบได้

บุคคลดังกล่าวจบปริญญาเอกจากต่างประเทศ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านการสร้างกระบวนการสื่อสารสาธารณะ มีประสบการณ์เป็นประธานและคณะกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะของหน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ เคยเป็นผู้แทนประเทศไทยไปศึกษาดูงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ฝรั่งเศส รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในวิชาด้านสื่อสารมวลชน

ความเหมาะสมก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนที่จะคิด ซึ่งมีกระบวนการรองรับอยู่แล้ว รวมถึงการแสดงวิสัยทัศน์และการตรวจรายละเอียดของเอกสาร ซึ่งบุคคลดังกล่าวถือว่ามีวัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์

นพ.ไพโรจน์ ยืนยันว่า คณะกรรมการได้ดำเนินการไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ให้สามารถสรรหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นการเฉพาะเจาะจงได้ เนื่องจาก สพฉ. เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัว การดำเนินการต่าง ๆ ทุกขั้นตอนสามารถตรวจสอบได้ จากประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสที่บุคคลทั้งภายในและภายนอก สามารถตรวจสอบเอกสารรวมถึงสามารถที่จะแสดงออกในการตั้งข้อคิดเห็น และสังเกตต่าง ๆ ได้

ตั้งคำถามเร่งรัด-ล็อกสเป็ก

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรีการันต์ ศรีวัฒนบูรพา หัวหน้างานสื่อสารองค์การ สพฉ. กล่าวว่า กังวลถึงการแต่งตั้งดำเแหน่งดังกล่าว เพราะคำสั่งที่แต่งตั้งโดยปลัด สธ. อาจเป็นการเร่งรัดในขณะทำหน้าที่รักษาการ และกระบวนการสรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมอาจไม่ถี่ถ้วน ขณะที่คณะกรรมการได้เชิญอดีตนักข่าวคนดังกล่าวให้มาแสดงวิสัยทัศน์ แต่ติดภารกิจ จึงขอเลื่อนออกไปก่อน โดยอยู่ที่มติคณะกรรมการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

เมื่อเร่งรัด รีบร้อน กระบวนการสรรหาผู้ที่เหมาะสมอาจจะไม่ถี่ถ้วน ไม่รอบคอบ หรือมีการลดคุณสมบัติ ล็อกสเป็กเพื่อให้ได้คนในเวลาจำกัด นี่คือสิ่งที่เราเป็นห่วง

ในวันพรุ่งนี้ (31 มี.ค.2564) จะมีการประชุมประจำเดือนของ สพฉ. วาระการประชุมเป็นการต้อนรับเลขาฯ สพฉ. และการมอบนโยบายกับพนักงาน ซึ่งตนเองจะเป็นตัวแทนตั้งคำถามกับ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาฯ สพฉ. ที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ ว่า กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งรองเลขาฯ สพฉ. ว่ามีทิศทางอย่างไร ส่วนตัวมองว่าองค์ความรู้ด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญ รวมทั้งประสบการด้านการบริหาร

ไม่ได้กำหนดว่าต้องแพทย์ หรืออะไร แต่รองเลขาฯ ต้องทำหน้าที่แทนเลขาฯ หลายครั้งต้องเป็นประธาน หรือตัวกลางด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่มีองค์ประชุมส่วนใหญ่เป็นแพทย์ พยาบาล และผู้ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผู้บริหารระดับสูงของ สพฉ. มีทั้งหมด 4 คน ได้แก่ เลขาฯ สพฉ. รองเลขาฯ 2 คน และผู้ช่วยเลขาฯ 1 คน ขณะนี้เหลือตำแหน่งรองเลขาฯ 1 ตำแหน่ง และผู้ช่วยเลขาฯ 1 ตำแหน่ง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง