นนี้ (2 เม.ย.2564) นพ.ชำนิ จิตตรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวถึงกรณีพระมรณภาพในกุฏิหลังฉีดวัคซีน COVID-19 ว่า คณะสงฆ์ได้ควบคุมป้องกัน COVID-19 มาตั้งแต่ต้น ขณะนี้ได้รับวัคซีน 1,000 โดส สำหรับฉีดให้กับพระสงฆ์และกลุ่มเสี่ยงเป็นโควตาของ กทม.เริ่มฉีดสัปดาห์ที่แล้วให้พระ 200 รูปที่โรงพยาบาลสงฆ์
ต่อมาออกหน่วยและนำร่องวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2564 และฉีดในพื้นที่บางบอน วันนี้ (2 เม.ย.) รวมฉีดวัคซีนแล้ว 400 กว่ารูป พบมีอาการแพ้วัคซีน 2 รูป อาการเป็นผื่นโดยเป็นวัคซีนซิโนแวค 1 รูป และแอสตราเซเนกา 1 รูป นอกจากนี้พบอาการอ่อนเพลียเป็นไข้ 3 รูป ต่อมาอาการดีขึ้นและสามารถกลับวัดได้ 1 รูป
ส่วนกรณีพระครูสิริปัญญาเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ มรณภาพ พบประวัติเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลสงฆ์ 15 ปี รักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เมื่อปี 2561 - 2562 พบภาวะหัวใจโต แต่ขาดการรักษาเมื่อปี 2563 เนื่องจากจำวัดในต่างประเทศ ไม่ค่อยฉันยาเบาหวาน ความดัน ไขมัน
กระทั่งกลับมารักษาในไทย และเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2564 ได้คัดกรองฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกา พบว่า ความดันโลหิตปกติ ไม่มีไข้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นข้อห้ามโดยฉีดวัคซีนในช่วงเวลา 10.40 น. เป็นล็อตที่ฉีดพร้อมกับพระอีก 10 รูป เมื่อครบเวลาสังเกตอาการ 11.10 น.ได้นิมนต์ไปฉันอาหารและอยู่ที่วัดไตรมิตรฯ ในระยะเวลาหนึ่ง ก่อนเดินทางกลับวัดสัมพันธวงศ์ กระทั่งพบว่ามรณภาพในวันรุ่งขึ้น
การติดตามผลชันสูตรจากโรงพยาบาลตำรวจ ผลอย่างไม่เป็นทางการ ไม่พบลิ่มเลือดในทุกจุดทั้งสมอง หัวใจ แต่พบว่าเส้นเลือดหัวใจตีบ อาจจะมีผลต่อการมรณภาพ อย่างไรก็ตามต้องให้แพทย์ผู้ชันสูตรเป็นผู้ลงความเห็น
วัคซีนที่ท่านได้รับไม่ได้ทำให้ท่านมรณภาพ ส่วนสาเหตุขอให้รอผลอย่างเป็นทางการ
ผอ.โรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ขอให้ประชาชนงดสงฆ์น้ำพระสงฆ์ เพราะพระมีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 รวมทั้งเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
ขณะที่ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน ตั้งแต่อาการเล็กน้อย ปวดเจ็บ บวมแดงบริเวณที่ฉีด ไปจนถึงอาการรุนแรง แต่ส่วนใหญ่พบน้อยมากที่มีอาการรุนแรง
หากมีอาการบวมบริเวณริมฝีปาก หนังตา ต้องให้รีบไปพบแพทย์ทันที ส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงสังเกตอาการ 30 นาทีแรกหลังฉีด
นพ.จักรรัฐ ระบุว่า ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและลงทะเบียนเข้ารับวัคซีน COVID-19 ขอให้รับบริการที่สถานพยาบาล และต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำตัวกับแพทย์ เพื่อเฝ้าสังเกตอาการโรคอื่น ๆ ได้ชัดเจน