วันนี้ (6 เม.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล คณะก้าวหน้า และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ร่วมจัดกิจกรรมเข้าชื่อของประชาชน เสนอร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่เป็นความร่วมมือของ 4 องค์กรคือ "คณะก้าวหน้า-พรรคก้าวไกล-กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า-และไอลอว์" ในนามเรโซลูชัน รณรงค์การเช้าชื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ที่ใช้การเข้าชื่อ 50,000 คนในการเสนอแก้กฎหมายในรัฐสภา ภายใต้แคมเปญ "ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์" เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้วางกลไกคำยันระบอบประยุทธ์เอาไว้
โดยพุ่งเป้าแก้ในประเด็นที่เห็นว่าเป็นปัญหาและอุปสรรค คือวุฒิสภา 250 คน พร้อมชี้ว่าจำนวนการเข้าชื่อของประชาชนครั้งนี้จะสะท้อนเจตจำนงความต้องการแก้กฎหมายของประชาชน จะเป็นการกดดัน 250 ส.ว.ให้เปลี่ยนความคิด ซึ่งครั้งนี้จะต่างจากเดิม หรือหมายผลลัพธ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ร่างของไอลอว์เสนอร่างแก้กฎหมาย แต่ถูกรัฐสภาตีตกไป
"ปิยบุตร" ชี้ต้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่
นายปิยบุตร เปิดเผยว่า รัฐธรรมนูญไทยต้องทำใหม่ทั้งฉบับ โดยเฉพาะหมวด 2 ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข หลังถูกสื่อถามว่าไม่แต่หมวด 1-2 เป็นการลดเพดานแนวร่วมในการต่อสู้กับระบอบประยุทธ์ แต่การแก้ครั้งนี้ย้ำการเสนอแก้ใน 4 ประเด็นใหญ่ ไม่ใช่หมายถึงไม่สนใจแก้หมวด 1-2 และยังอธิบายการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่ามี 3 ช่องทาง คือการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและร่างใหม่, การตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ แต่ถูกรัฐสภาตีตกไปแล้ว และการแก้แบบรายมาตรา และตั้งเป้า 6 เดือนในการเข้าชื่อประชาชน
ทั้งนี้ ร่างแก้รัฐธรรมนูญที่มีการเสนอแก้ไขหลักๆ มี 4 หมวด ประกอบด้วยหมวดรัฐสภา, ศาลรัฐธรรมนูญ, องค์กรอิสระ และหมวด 16 การยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช.มีการปรับแก้นับร้อยมาตรา โดยร่างอ้างอิงเหตผลการแก้กฎหมายว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีบทบัญญัติหลายมาตราที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และกลไกสืบทอดอำนาจ คสช.ไม่เป็นที่ยอมรับจนกลายเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญ และกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระบบรัฐสภา เศรษฐกิจปัญหาปากท้องประชาชน จึงต้องแก้รัฐธรรมนูญหลายประเด็น
จี้ยกเลิก ส.ว.ให้เหลือแค่ ส.ส.เท่านั้น
ให้ยกเลิกหมวดรัฐสภา ยกเลิก ส.ว. และให้เหลือสภาเดียว คือสภาผู้แทนราษฎร อ้างถึงความชอบธรรมทางประชาธิปไตย จากกรณีที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้ง สนช.ที่มาจาก คสช. และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อหลักการการแบ่งแยกอำนาจ จึงต้องแก้คุณสมบัติการได้มาซึ่งตุลาการศาลฯ เช่นเดียวกับการแก้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามองค์กรอิสระ ที่จะสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลกับองค์กรอิสระ
ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ อันมีที่มาจากผลพวงการรัฐประหารของ คสช. จึงขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยที่จะบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ แต่ควรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดการปฏิรูปประเทศ การยกเลิกมาตรา 279 ประกาศ และคำสั่ง คสช. และการแก้มาตรา 256 กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดเสียงเห็นชอบของ ส.ส.เป็น 2 ใน 3 หลังยกเลิก ส.ว.ไปแล้ว
นอกจากนี้ ในงานยังมีการแถลงถึงเหตุผลของการแก้รัฐธรรมนูญจาก น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ น้องมายด์ รวมถึง เฌอเอม น.ส.ชญาธนุส ศรทัตต์ นางแบบ ร่วมด้วย