วันนี้ (19 เม.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยผลสำรวจดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) เดือน มี.ค.2564 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 40.4 จาก 39.5 ในเดือน ก.พ. 64 หลังสถานการณ์ COVID-19 มีแนวโน้มดีขึ้น จึงมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาด โดยยกเลิกพื้นที่โซนสีแดงทั้งหมด ทำให้ร้านอาหาร สถานบันเทิงต่างๆ สามารถกลับมาเปิดได้แต่มีการจำกัดเวลา
ส่วนกิจกรรมอื่นๆ สามารถทำได้ตามปกติ ส่งผลให้มุมมองเกี่ยวกับรายได้และการมีงานทำปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการอนุมัติแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว ในเงื่อนไขที่ว่าต้องมีการฉีดวัคซีนแล้ว นำร่องที่ จ.ภูเก็ต และจะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ จนครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อธุรกิจภาคการท่องเที่ยวมีการจ้างงานอยู่ราว 3 ล้านคน
โควิดกระทบเศรษฐกิจ-การครองชีพ
ดัชนี KR-ECI สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาอันส้้นจากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 ในช่วงต้นเดือน เม.ย.2564 ที่ผ่านมา โดยสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบให้ความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน ที่เริ่มปรับตัวดีในเดือน มี.ค.2564 กลับมาเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะมุมมองต่อรายได้และการมีงานทำ
หลังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว อาจได้รับผลกระทบจาก แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะล่าช้าออกไปจากแผนเดิม อีกทั้งการพึ่งพาอุปสงค์จากนักท่องเที่ยวในประเทศ อาจทำได้ยากขึ้น หลังเริ่มมีนโยบายการกักตัวจากจังหวัดต้นทาง ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนในประเทศ รวมถึงความเพียงพอของวัคซีนยังคงมีความไม่ชัดเจนสูง
สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ ทำให้การสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือน มี.ค.2564 ที่ครัวเรือนมองแนวโน้มการครองชีพในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้น จะไม่ได้สะท้อนภาพที่รวมผลกระทบของการระบาดในเดือน เม.ย.2564 เข้าไว้ด้วย
แนะออกมาตรการสร้างความเชื่อมั่น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าภาครัฐควรเร่งออกมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องของ มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด การเร่งดำเนินการในเรื่องของการจัดหาและกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากร
เนื่องจากหากสถานการณ์ระบาดมีแนวโน้มยืดยาว อาจทำให้ผลกระทบไม่เกิดแก่เพียงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่จะต่อเนื่องไปถึงแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่อาจล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีโอกาสขยายต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 2.6%