วันนี้ (19 เม.ย.2564) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่จำนวน 1,390 คน รวมยอดผู้ติดเชื้อระลอกใหม่สะสมในเดือน เม.ย.ทั้งหมด 14,878 คน ทั้งนี้จากข้อมูลการระบาดระลอกแรก เมื่อ ม.ค.2563 ถึงกลางเดือน ธ.ค.2563 รวมเวลา 11 เดือนครึ่ง มีผู้ติดเชื้อ 4,237 คน ส่วนต่อการระบาดระลอกที่ 2 เมื่อเดือน ธ.ค.2563 จนถึง มี.ค.2564 จุดเริ่มต้นจากจ.สมุทรสาคร รวมระยะเวลา 3 เดือนครึ่ง มีผู้ติดเชื้อจำนวน 24,626 ราย หรือสูงเป็น 6 เท่าของรอบแรก จากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ค่อยๆ ลดลง
การระบาดระลอกใหม่ในเดือน เม.ย.นี้ จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ และเพียง 3 สัปดาห์ปรากฏว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งไปถึง 14,851 คน ซึ่งถือว่าสูงเป็น 3 เท่าของการระบาดรอบแรก และยังพบว่ามีบุคลากรการแพทย์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 146 คน
ไทยไม่ฉีดวัคซีนล่าช้า
ขณะนี้ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีน COVID-19 แล้วตั้งแต่ 28 ก.พ.-18 เม.ย.จำนวน 618,583 คน ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็นผู้รับวัคซีนเข็มแรก 535,325 คน และวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 82,658 คน โดยเมื่อวานนี้(18 เม.ย.) มีผู้รับวัคซีนเข็มแรก 9,219 คน และเข็มที่ 2 จำนวน 843 คน
ส่วนคำถามว่าการฉีดวัคซีนมีความล่าช้าไปหรือไม่ม นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ไม่ล่าช้า เพราะมีวัคซีนมาเทาไหร่ก็บริหารจัดการตามวัคซีนตามแผนที่มีอยู่ ซึ่งในช่วงแรกการนำเข้าวัคซีนมาจำกัด แต่ก็ยังถือว่ามีการฉีดวัคซีนมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทย เพราะเวียดนามเองฉีดได้ 50,000 โดส ส่วนกัมพูชา 400,000 โดส แต่หากเทียบกับทางอินโดนีเซียฉีดวัคซีนได้มากกว่า เพราะมีการลงนามกับจีนตั้งแต่ก่อนที่ยังไม่รู้ประสิทธิผลของวัคซีน มีจำนวนน้อย
ส่วนของไทยหาวัคซีนแอสตาเซเนเกา ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่จะถึงไทยประมาณ 10 ล้านโดสในเดือนมิ.ย.นี้ จะจัดฉีควัคซีนให้คนไทยได้ทั่วถึง ส่วนคำถามว่าไทยหาวัคซีนพิ่มเติมหรือไม่ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ไทยมีการเตรียมวัคซีนในแผนฉุกเฉินคือซิโนแวค ซึ่ง 2 ล้านโดสก็ไม่ได้มาในล็อตเดียวกัน แต่ต้องทยอยส่งมาคือ 200,000 โดส และ 800,000 โดส และฉีดได้เรียบร้อยในเดือนมี.ค.นี้ และอีก 1 ล้านโดสเพิ่งเซ็นรับเมื่อวันก่อน โดยเตรียมจะฉีดให้บุคลากรการแพทย์ ซึ่งเป็นด่านหน้า เนื่องจากมีความเสี่ยงและพบติดเชื้อแล้ว 146 คน
ทั้งนี้ยืนยันว่าการฉีดในพื้นที่การระบาดไม่ได้สูญเปล่า เพราะในพื้นที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ติดเชื้อ COVID-19 ทั้งหมด แต่มีทั้งคนที่ไม่ติดเชื้อ และติดเชื้อ เพราะการฉีดวัคซีนจะเกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
ส่วนคนที่บอกว่าล่าช้าไม่เกี่ยวกับที่ไทยไม่เข้าโครงการโคแวค แต่ที่ไทยเจรจาโดยตรงทำให้ไทยได้วัคซีนมาก่อน และยังก้าวหน้าถึงขั้นจะผลิตวัคซีนได้เอง สำหรับวัคซีนแอสตราเซเนกาที่จะเข้ามาไทยเดือนมิ.ย.นี้ ตอนนี้มีการทำแผนที่ และเดือนพ.ค.นี้ถึงจะเริ่มลงทะเบียนให้ฉีควัคซีนเพราะคนที่จะฉีดต้องสมัครใจ และเริ่มเปิดในหมอพร้อม ช่วงเดือนพ.ค.นี้ และคนที่ไม่มีระบบมือถือก็จะผ่านทางอสม.และโรงพยาบาลต่างๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไขปมป่วย COVID-19 เตียงไม่พอ-แนวคิดติดเชื้อกักตัวที่บ้าน