วันนี้ (26 เม.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงการรักษา COVID-19 ด้วยพลาสมาจากผู้ที่หายป่วย โดยระบุว่า องค์ความรู้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ขณะนี้ได้นำพลาสมาจากผู้ที่หายป่วย มารักษาผู้ป่วยในการระบาดรอบใหม่มากกว่า 120 คน จนพลาสมาที่มีอยู่ใกล้จะหมดลง จึงอยากจะเชิญชวนผู้ที่หายแล้วมาบริจาคได้
ที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร NEJM ชั้นนำของโลก ว่า การให้พลาสมาในผู้ป่วยที่อาการรุนแรง ไม่แตกต่างกันกับการไม่ได้ให้ โดยรายงานนี้ทุกคนยอมรับว่า หากป่วยรุนแรงถึงกับใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว ไม่มีประโยชน์จะให้พลาสมา
แต่มีการศึกษาในวารสารเดียวกันว่า การให้พลาสมาในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และให้เร็วตั้งแต่เริ่มมีปอดบวม พบว่าสามารถป้องกันการดำเนินโรคไม่ให้เลวลง ทำให้ผู้ป่วยลดการใส่ท่อช่วยหายใจ และลดอัตราการตายได้
นพ.ยง ระบุด้วยว่า ทั้งการฉีดวัคซีน และการให้พลาสมา ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นมีส่วนในการกดดันไวรัสให้ไวรัสกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีน หรือภูมิต้านทานที่อยู่ในพลาสมา ไวรัสก็จะปรับตัวหลบหลีกภูมิต้านทาน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ การระบาดของสายพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาล จึงอยากให้สบายใจได้
ขณะนี้ในโครงการบริจาคพลาสม่า จะมีการตรวจระดับภูมิต้านทานของผู้ที่จะมาบริจาค รับบริจาคเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานสูงเท่านั้น และการนำไปใช้มีคำแนะนำให้ใช้กับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกที่ผู้ป่วยมีภาวะปอดบวม อย่างน้อย 2 จุดขึ้นไป และหรือเริ่มมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำลงมาอยู่ที่ 94% หรือต่ำกว่า
จากข้อมูลการรักษาขณะนี้มากกว่า 120 คน ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามีอาการเป็นที่น่าพอใจ โดยอยู่ระหว่างรอวิเคราะห์ผลทั้งหมด และความประสงค์ของแพทย์ผู้รักษา
เชิญชวนคนหายป่วย COVID-19 บริจาคพลาสมา
ผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่หายแล้วและสุขภาพแข็งแรง บริจาคพลาสมาเพื่อใช้เสริมการรักษาโรคให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ Facebook Fanpage ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โดยจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนัดหมายคัดกรอง หรือสอบถามโทร 02-256-4300
สำหรับคุณสมบัติผู้บริจาคพลาสมา มีดังนี้
- ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เดินทางได้สะดวก
- รักษาหายแล้วออกจากโรงพยาบาล อย่างน้อย 14 วัน และมีผลตรวจเป็นลบแล้ว
- ออกจากโรงพยาบาลและกักตัวอยู่บ้านรวมกันแล้วครบ 28 วัน
- อายุ 18-60 ปี
- น้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 55 กิโลกริมขึ้นไป
- สุขภาพแข็งแรงดี