วันนี้ (10 พ.ค.2564) นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยเกี่ยวกับแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อใช้ในการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจว่า ขอเรียนดังนี้
พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 กำหนดให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ
โดยจะต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.2564 ในวงเงินไม่เกิน 1,000,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุข การช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
เตรียมกู้เงิน 703,841 ล้านบาทตามมติ ครม.
โดย ณ วันที่ 6 พ.ค.2564 กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ดำเนินการจัดหาเงินกู้ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วจำนวน 703,841 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 92 ของกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะวางแผนและดำเนินการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.อย่างรอบคอบ โดยใช้กลยุทธ์การระดมทุนที่เป็นการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ได้วงเงินกู้ที่ครบถ้วนภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม และความเสี่ยงที่ยอมรับได้
รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการแย่งสภาพคล่องจากภาคเอกชน และส่งเสริมการพัฒนาตลาดราสารหนี้ในประเทศ โดยใช้เครื่องมือทางการเงินที่ผสมผสานทั้งระยะสั้นและระยะยาว อาทิ ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญากู้ยืมเงิน พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรออมทรัพย์
ปรับโครงสร้างหนี้เป็นระยะปานกลาง-ยาว
อีกทั้งได้คำนึงถึงแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะปานกลางและระยะยาว โดยใช้พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ความต้องการของนักลงทุน และสภาวะตลาดการเงินในประเทศ
อย่างไรก็ดี หากในอนาคตรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะวางแผนการกู้เงินอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงต้นทุน สภาวะตลาดการเงิน และจะพัฒนานวัตกรรมทางการเงินให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนและตลาดการเงิน
ยืนยันดำเนินการรอบคอบ-ถูกต้องตาม กม.
โดยจะมุ่งเน้นตราสารทางการเงินที่ส่งเสริมการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกในการระดมทุนสำหรับโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการบริหารหนี้สาธารณะได้มีการดำเนินการ อย่างรอบคอบ ครบถ้วน และถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ